ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > การเติบโตของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย
ตลาดรถจักรยานยนต์ ถึง 2,000,000 คันหรือไม่?
ที่มา - ยวดยาน Automotive Newspaper ฉบับวันที่ 16-31 มกราคม 2547

ตัวเลขการเติบโตของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ที่จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมของ ปี พ.ศ. 2546 ถือว่าช็อกวงการพอสมควร กับ ตัวเลขที่ 1,755,297 คัน

ทำไมถึง ช็อกวงการ ... หากย้อนกลับไปดูตัวเลขในอดีต จะเห็นได้ว่าการเติบโตของรถจักรยานยนต์นั้น สูงสุดอยู่ที่ปี 2538 คือ 1,464,942 คัน เมื่อตัวเลขทะยานถึง 1,755,297 คัน ห่างจากยอดขายรวมของปี 2545 ที่มีเพียง 1,332,744 คัน เติบโตประมาณ 32% นั้น ย่อมช็อกวงการพอสมควร

สาเหตุหลัก น่าจะมาจากการตัดสินใจเปิดตัวรถจักรยานยนต์ราคาถูก ฮอนด้า เวฟ 100 ของบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ด้วยสนน ราคา 29,500 บาท สร้างความอึดอัดให้กับคู่แข่งเป็นอย่างยิ่ง ด้วยไม่คิดว่า ฮอนด้า จะเล่นเกมนี้ออกมา ฮอนด้า ถือเป็นการปลุกกระแสให้ตลาดรถจักรยานยนต์ร้อนพรึ่บพรั่บทันตาเห็น ยิ่งเมื่อ ซูซูกิ ใช้สไตล์ไปไหนไปด้วย เปิดตัวรถราคาถูกด้วยเหมือนกัน ด้วยการเปิดตัว ซูซูกิ สแมช ในราคา 3 หมื่นนิดๆ ผสมเป็นขนมจีนน้ำยา ด้วยรถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ ที่ประกาศตัวเป็นรถของคนไทย โดดร่วมวงด้วย และตลาดรถราคาถูกร้อนหนักขึ้น เมื่อกลิ่นอายของรถจักรยานยนต์จากประเทศจีน ที่ปักหลักกันอยู่แถวหาดใหญ่ ปักษ์ใต้บ้านเรา แอบย่องมาตีท้ายครัวบ่อย ถึงจะไม่มากมายแต่ก็ทำให้รถไทยอดเหลียวมองไม่ได้เหมือนกัน

มีคำถามที่น่าสนใจว่า...หากตัวเลขยอดขายของรถจักรยานยนต์ปี 2546 อยู่ที่ 1,755,297 คัน แล้วปี 2547 ล่ะ จะอยู่ที่เท่าไหร่? เซียนมอเตอร์ไซค์ รายหนึ่งฟันธงว่า ตัวเลขยอดขายของปี 47 นั้น จะไม่สูงเท่าไหร่นัก ตัวเลขยอดขายของปี 46 นั้น ปัจจัยสำคัญเกิดจากยอดขายของรถจักรยานยนต์ราคาถูกที่ ฮอนด้า เปิดเกมแล้วคว้ายอดแบบถล่มทลาย ตามด้วย ซูซูกิ กับ ไทเกอร์ ที่ตามผู้นำแล้วได้ดี ตามท้ายด้วย ไทเกอร์ ที่ใช้ความเก๋าสมัยยังทำ คาวาซากิ เกาะกลุ่มมาด้วย ตัวเลขยอดขาย... วิ่งสูงลิ่วถึง 1,755,257 คัน ด้วยเหตุนี้...การคาดการณ์ยอดขายของปี 47 จึงน่าจะกลับมาเป็นไปโดยตามธรรมชาติ การเติบโตของตลาด คือ 10% ใครที่คาดการณ์ว่าจะถึง 2,000,000 คัน...อาจผิดหวังก็ได้

อีกประการหนึ่ง หลังการเติบโตของรถราคาถูกนั้น...แรกๆ มีการวาดหวังจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ คือกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย หรือที่เรียกว่า ตลาดล่าง แต่ปรากฏว่า กลับคาดการณ์ผิดถนัด เพราะกลุ่มผู้ซื้อแทนที่จะเป็นกลุ่มใหม่ กลับเป็นกลุ่มเดิม กลุ่มที่มีรถอยู่แล้ว และซื้อเพิ่มอีก 1 คัน เนื่องจากราคาถูก เลยซื้อไว้ใช้ส่วนตัว ดังนั้น...ตัวเลขยอดขายของปี 47 จึงน่าจะอยู่ที่ 1,800,000-1,850,000 คัน

ตัวเลขที่ว่านี้...ลองไปเจาะลึกความเคลื่อนไหวของแต่ละค่ายกันดูว่า...มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นกันที่ แชมป์ตลอดกาล ฮอนด้า ค่ายยักษ์ใหญ่ ปากน้ำ เจ้าของปีกอินทรีผงาดฟ้า เท่าที่จับกระแสจับทิศทาง... ค่ายนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะแค่นี้...คู่ต่อสู้ก็หาวเรอ วิ่งไล่กันไม่ทันอยู่แล้ว หัวใจสำคัญของปีกอินทรีอยู่ที่ เดอะ สิงห์ ธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ ที่นำ ฮอนด้า ผงาด เหนือใครยาวนานกว่า 10 ปี ว่ากันว่า เดอะสิงห์ คนนี้ คือสัญลักษณ์ของ ฮอนด้า ตัวจริงเสียงจริง การมองตลาดแบบรู้เขารู้เรา วิเคราะห์ เส้นทางได้อย่างแม่นยำ ทำให้ ฮอนด้า ยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้

นโยบายการตลาดของ เดอะสิงห์ คือการเดินหน้าจับมือ ดีลเลอร์ ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกอะไร...ที่ ฮอนด้า จะมีกิจกรรมทั้งปี ความพร้อมของ ฮอนด้า ในเรื่องของการประกอบ สมัยหนึ่งว่ากันว่า...คู่ต่อสู้จะออกรถแต่ละรุ่น ปิดข่าวจนวินาทีสุดท้าย เพราะกลัว ฮอนด้า จะรู้...แล้วออกรถมาประกบ ด้วยการทำการบ้านล่วงหน้ามาตลอด เป้าหมายของ ฮอนด้า คือการเดินหน้าประกอบรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ โดยเลิกประกอบรถ 2 จังหวะ ที่นับว่าจะไม่มีผู้นิยมใช้กันแล้ว ที่สำคัญ...รถ 4 จังหวะนั้น ประหยัดน้ำมันกว่ารถ 2 จังหวะ จึงเหมาะกับยุคของน้ำมันแพงเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ รถครอบครัวซึ่งเป็นรถ 4 จังหวะ จึงมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 80 เปอร์เซ็นต์

อีกเรื่องที่ ฮอนด้า ให้ความสำคัญ คือเรื่องของอะไหล่ การเปิดตัวของ HAMP ทำให้กลุ่มลูกค้าของ ฮอนด้า แฮปปี้ เพราะซื้อง่ายหาคล่อง เมื่อรวมกับการบริการหลังการขายที่ถึงลูกถึงคนของ ฮอนด้า ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้มากขึ้นไปอีก นี่ขนาดยังไม่ได้เอ่ยถึงรถมือสอง ที่ ฮอนด้า มุ่งมั่นเป็นยิ่งนัก เพราะมีเป้าหมายมิได้แค่การบริการให้กับลูกค้าฮอนด้า ได้รับความยุติธรรมในประเทศไทยเท่านั้น หากยังหมายถึงการต้องการเป็นผู้นำร่องของรถมือสองของฮอนด้าทั่วโลกอีกด้วย

ประการสุดท้าย ที่มิอาจมองข้ามการเป็นผู้ชนะตลอดกาลของ ฮอนด้า ก็คือ การสามารถกุมหัวใจสื่อสายแมกกาซีนไว้ได้ทั้งหมด ด้วยนโยบาย...คบ ฮอนด้า ...สบายไปทั้งปี ทั้งหลายทั้งปวง คือ ปัจจัยประกอบกัน ทำให้ ฮอนด้า ยังคงยิ่งใหญ่ต่อไป ชนิดยังไม่เห็นจะมีใครก้าวขึ้นมาเทียบชั้นได้ ฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า...ปี 47 ฮอนด้า จะยังคงเป็นแชมป์รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยได้อีก ปัญหาอยู่ที่ว่า...จะทำยอดขายให้ทะลุถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หรือเปล่า?

จากค่ายปากน้ำ...ขยับไปที่เพื่อนบ้านบนเส้นทางเดียวกันอย่าง ยามาฮ่า ที่วันนี้ ปรับทัพลงตัวเรียบร้อย หลังเจอคลื่นเศรษฐกิจจนแกว่งตัวอยู่นานสมควร ยามาฮ่า ประกาศชัดเจนไม่สนกับการขายรถราคาถูก เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยี ยามาฮ่า ว่าไม่เป็นรองใคร ด้วยเหตุนี้ ยามาฮ่า นูโว จึงฉีกแนวไปในสไตล์ของรถสกู๊ตเตอร์ เป็นการสร้างกระแสใหม่ ที่วันนี้ยังวัดผลไม่ได้กับความสำเร็จที่เกิดขึ้น การเปิดแนวทางใหม่ของ ยามาฮ่า ในสไตล์รถสกู๊ตเตอร์ จึงยังคงต้องรอการพิสูจน์ว่า... ยามาฮ่า คิดถูกหรือคิดผิด

มีคนบอกว่า...การจะสร้างกระแส ใหม่ๆ สักครั้งในแวดวง 2 ล้อนั้น ต้องใช้เวลา และการทุ่มทุนค่อนข้างเยอะ แต่ถ้ามองอย่างคน ยามาฮ่า คำตอบแน่นอน...ต้องคิดถูกและแฮปปี้ นโยบายของ ยามาฮ่า หลังหมดยุคคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช มีสิ่งหนึ่งซึ่งคล้ายๆ กันทุกยี่ห้อ...คือการจัดกิจกรรม ว่ากันว่า งบจัดกิจกรรมของ ยามาฮ่า ก้อนไม่เล็กเหมือนกัน จะเห็นได้จากการทุ่มงบกับกิจกรรมท้องถิ่นอย่างไม่อั้น แถมยังเปิดชมรม สมาชิก นูโว วีไอพี การ์ด เพื่อรวมพลคนรักนูโว ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการขายทั้งสิ้น ยิ่งการนำเอากลยุทธ์การตลาดใหม่ Value-Added Market มาใช้ในการตลาด ก็มีจุดประสงค์ต้องการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้า เพราะมั่นใจกับนโยบาย คุณภาพคุ้มราคา

วันนี้... ยามาฮ่า มองภาพรวมแล้ว พร้อมที่จะเดินหาความสำเร็จ เพราะบริษัทเพิ่งจะทุ่มงบมหาศาลสร้างภาพลักษณ์ดึง F4 มาเปิดตัว Switch ในเมืองไทย (Switch คือการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจแนวทางใหม่ ที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าต่อการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ โดยเน้นลูกค้าเป็นหลักสำคัญ)

การเปิด Switch โดยใช้ 4 หนุ่ม F4 เป็นพรีเซ็นเตอร์นั้น ได้รับการตอบรับอย่างฮือฮา ยี่ห้อ 4 หนุ่มดังอย่าง F4 นั้น ขายได้อยู่แล้ว ยามาฮ่า ถือว่า ได้พรีเซ็นเตอร์ที่ตรงใจกลุ่มวัยรุ่นที่สุด เพราะกลุ่มลูกค้ารถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่นั้น ก็คือกลุ่มวัยรุ่นนั่นเอง งานนี้ ยามาฮ่าไทยแลนด์ รับผลประโยชน์เต็มๆ เพราะบริษัทแม่ จ่ายเองทั้งหมด ที่สำคัญ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยามาฮ่าได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้โลโก้ มีโอ แถมจัดกิจกรรม ลานหน้าฮาร์ดร็อค คาเฟ่ สยามสแควร์ และมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินแคลชอีกด้วย เป็นอีกก้าวย่างที่ ยามาฮ่า เปิดเกมทิ้งท้ายปลายปี 46

มีคำถาม...ถามว่า Switch ฮือฮามั้ย? คำตอบ...ฮือฮาแน่นอน แต่ฮือฮาแล้วรถขายได้มั้ย อันนี้น่าคิด แต่ที่แน่ๆ ... Switch สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับดีลเลอร์ยามาฮ่า ...เหมือนต้นไม้ได้ฝน ยังไงยังงั้น เชียวล่ะ โดย เฉพาะยอดขาย มีโอ นั้น ทะลุเกินเป้าหมาย จนมิอาจละสายตา

สำหรับตัวรถของปี 47 ...บีบคอถามฝ่ายบริหารยังไง...ก็คงไม่ยอมตอบ เพราะเรื่องเปิดตัวนี่คือความลับสุดยอดเชียวล่ะ แต่หากจะมองความพร้อมแล้ว เชื่อขนมกินได้เลยว่า ยามาฮ่า พร้อมที่สุด และมีเป้าหมายจะทำให้ได้ 20% ในปี 48 ทำให้ ยามาฮ่า คึกคักสุดสุด ในเวลานี้

จากถนนบางนา-ตราด ข้ามฟากไปที่รังสิต ค่ายซูซูกิ...เจ้าของเบอร์ 2 ของตลาดรถจักรยานยนต์ ปี 46... ซูซูกิ น่าจะเป็นบริษัทที่มีโชคอยู่พอสมควร นโยบายการไม่ฝืนตลาด เดินตามหลังผู้นำ ทำให้ ซูซูกิ ยังคงรั้งอันดับ 2 ไว้อย่างเหนียวแน่น การเปิดตัว ซูซูกิ สแมช ดี รถจักรยาน ยนต์ 4 จังหวะ 110 ซี.ซี. คลัตช์มือ ด้วยสนน ราคาเพียง 27,500 บาทเท่านั้น อย่าว่าแต่ ยามาฮ่า เลย แม้กระทั่ง ฮอนด้า ยังต้องเหลียวมามองจนคอเอียง แถมใจถึง ตั้งเป้าไว้จะขาย 2,500 คันต่อเดือนซะด้วย ซูซูกิ ค่อนข้างมั่นใจกับสมรรถนะของเทคโนโลยีของตัวเองว่าสู้ได้ทุกรุ่น แต่เพื่อความปลอดภัย เลยใช้วิธีเกาะผู้นำ ... ซูซูกิ ปลอดภัย

หากจะมองถึงปัญหาของ ซูซูกิ น่าจะมาจากการเป็นบริษัทที่นโยบายการจัดจำหน่ายแตกต่างจากค่ายอื่นๆ ที่แยกการจัดจำหน่ายออกจากบริษัท โดยให้ เอส.พี.ซูซูกิ กับบ้านซูซูกิ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการขาย ผิดกับค่ายอื่นๆ ที่ดูแลดีลเลอร์ทั้งหมดด้วยตัวเอง ทำให้แต่ละดีลเลอร์เกิดการแข่งขันซึ่งกันและกันมากกว่า นโยบายหลักๆ ของ ซูซูกิ นั้น คงไม่หนีกับอีก 2 ค่ายที่กล่าวมา คือการมุ่งจัดกิจกรรมกับดีลเลอร์ทั่วประเทศ กิจกรรม จึงเป็นหัวใจหลักของการทำตลาด สำหรับรถจักรยานยนต์ไปแล้ว

ค่ายเขียว-แดง คาวาซากิ หลายคนคงอยากถาม คาวาซากิ ยังอยู่ดีหรือ? อันที่จริง คาวาซากิ ยอมรับสภาพกับตลาดเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะวันนี้สภาพการณ์ของบริษัทกับยอดขายที่มีอยู่ คาวาซากิ ไม่เดือดร้อนอะไรมากนัก การเปิดตัว คาวาซากิ คาเซ่ 125 เป็นอีกทางเลือกที่ลูกค้ากลุ่มที่ยังเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ คาวาซากิ และเชื่อมั่นในคุณภาพและความทนทาน เหมือนกับที่ตั้งสโลแกนไว้ว่า...สินค้าที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่สมเหตุสมผล คาวาซากิ จึงประคองตัวอยู่ได้ด้วยเหตุผลนี้

ส่วนทิศทางในปี 47 เชื่อแน่เลยว่า...คงจะไม่มีการปรับหมากอะไรมากนัก คงจะใช้วิธีรักษาส่วนสัดที่มีอยู่ให้คงไว้ต่อไป อย่างน้อย... แฟนพันธุ์แท้ ของ คาวาซากิ...ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม ในส่วนอื่นๆ ของ คาวาซากิ ก็คงเป็นเรื่องของกิจกรรม ซึ่งมีอยู่เหมือนกัน แต่คงไม่มากมายเท่าใดนัก ด้วยความจำกัดของกระเป๋าตังค์นั่นเอง

- ค่ายสุดท้าย...เจ้าของสโลแกน รถคนไทย ฝีมือคนไทย ทเกอร์ ทำเอาตลาดล่างตัดสินใจไม่ถูกเหมือนกัน เพราะเป็นตัวเลือกของรถราคาถูก ที่เปิดตัวมาในช่วงแรก ฮือฮาพอสมควร ไทเกอร์ สมาร์ท และไทเกอร์ โจ๊กเกอร์ ได้รับการตอบรับจนทำให้พรวดพราดมาอยู่อันดับ 4 ชนิดงงกันทั้งประเทศ

การตอกย้ำความเป็นรถไทย โดยคนไทย ได้ผลพอสมควร ยังอาศัยความเป็นมือเก๋ามือเก่าแก่ยุค คาวาซากิ เฟื่องฟูของ เสี่ยปิติ มโนมัยพิบูลย์ กับสุชาติ เลขวรรณวิเศษ ทำให้ ไทเกอร์ เหมือนเขย่งก้าวกระโดด การเป็นผู้กว้างขวางในแวดวงสื่อมวลชน การถ้อยทีถ้อยอาศัยสมัย คาวาซากิ ทำให้ 2 คน นายกับลูกน้องได้ใช้ประโยชน์สูงสุดวันนี้เอง ที่สำคัญ... สุชาติ ถือเป็นคนบุกเบิกกิจกรรมในแวดวง 2 ล้อคนหนึ่งเหมือนกัน

ไทเกอร์ จึงมีอะไรเด็ดๆ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา ช่วงปลายปี...อาจดูเหมือนแผ่วไปนิด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ การคั่นเวลารถใหม่ ด้วยการจัดกิจกรรมเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นจิ๋วอย่าง ไทเกอร์ นาโนไบค์ นั้นได้ผลเกินคาด เพราะแฟนๆ รุ่นจิ๋ว แห่ไปสมัครแข่งขันกันเกินเป้าหมาย เล่นเอาแฮปปี้ไปทั้งบริษัท วันนี้ส่วนแบ่งตลาด 4% ทำให้ ไทเกอร์ ได้ใจ มีแรงที่จะบุกต่อในปีหน้าอย่างมั่นใจกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับรถจักรยานยนต์ในปี 47 ไทเกอร์ เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ไทเกอร์ โอโซน ที่กล้าหาญชาญชัย ใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ เป็นเกมการตลาด ทำให้สามารถสร้างสีสันได้ดีทีเดียว

นี่คือสภาพการณ์ตลาดรถจักรยาน ยนต์ของปี 2547 ที่ยังไงซะ...เบอร์หนึ่ง คือ ฮอนด้า เบอร์สุดท้ายคือ คาวาซากิ ส่วนไทเกอร์ คงจะจองเบอร์ 4 สุดยอดของการติดตาม น่าจะอยู่ที่เบอร์ 2 กับเบอร์ 3 ที่จะเชือดเฉือนกันระหว่าง ซูซูกิ กับ ยามาฮ่า วันนี้... ซูซูกิ ยังเป็นต่อในฐานะ เบอร์ 2 ของเดิม แต่ถ้าจะรอง ยามาฮ่า ก็ไม่ว่าอะไร เพราะมีสิทธิหยิบได้ทั้งคู่ ส่วนเบอร์ 1 ... ฮอนด้า จองยาวเลยเชียวละ

แหม...ไม่ยาวได้ไง ก้อ...เป็นแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 16 แล้วนี่