ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > ราชาเงินผ่อนหน้ามืด ยอดลูกหนี้ผิดนัดพุ่ง
ราชาเงินผ่อนหน้ามืด ยอดลูกหนี้ผิดนัดพุ่ง
ที่มา - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 22-25 พ.ค.48

รากหญ้าวิกฤติ แรงซื้อหด กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถมอเตอร์ไชต์เข่าอ่อนกำไรหดถ้วนหน้า ลูกค้าเกษตรกรเผชิญภัยแล้ง ความรุนแรงในภาคใต้ "ฐิติกร" ขาใหญ่ทิ้งชนบทหันจับลูกค้าคนเมือง ด้านโครงการธนาคารประชาชน "ออมสิน" ปล่อยสินเชื่ออืด ค่ายรถเจอของจริงลูกค้าทิ้งไม่ผ่อนต่อ ขณะที่ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์กำไรหด ผู้คนหันไปซดบะหมี่ยอดพุ่ง

กำลังซื้อภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ส่งสัญญาณให้เห็นว่า พวกเขากำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แรงซื้อแห้งขอดลงทุกขณะ "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจผลประกอบการของกลุ่มบริษัททำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ กำไรหดอย่างรุนแรง การซื้อขายของประชาชน พบว่าเดือนเม.ย.ตกวูบ 12% ลูกค้าขอขยายเวลาผ่อน บ้างติดใจให้ยึดไปเลย ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคบางตัวยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนหันหาความจริงสะท้อนจากตัวเลขธุรกิจด้านบันเทิงกำไรหดอย่างน่าใจหาย

ธุรกิจหากินกับ "รากหญ้า" อ่วม!
จากอำนาจซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และปัญหาภัยแล้งทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถมอเตอร์ไซต์ ที่มีฐานรายได้จากผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่เป็นระดับรากหญ้านั้น จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก

บริษัท ดีอี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจขายเช่าซื้อสินค้ายี่ห้อ "ไดสตาร์" ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องใช้สำนักงาน รถจักรยานยนต์ (ยี่ห้อไทเกอร์) เป็นต้น พบว่า กำไรไตรมาสแรกลดลงถึง 92.29% โดยมีกำไรสุทธิ เพียง 3.30 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 42.78 ล้านบาท

นายวัฒน คันธา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ดีอี แคปปิตอล กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสาเหตุที่ผลการดำเนินงานลดลงว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของลูกค้าโดยตรง จนทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจในการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ส่งผลให้รายได้จากการขายผ่านสาขาลดลง 55 ล้านบาท หรือ 23.91% นอกจากนี้มีลูกค้าบางส่วนไม่มีกำลังผ่อนชำระ จึงทำให้มีการยึดสินค้าคืนมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 17.92 ล้านบาท

ปรับกลยุทธ์ทำเช่าซื้อรถปิกอัพ "พยุง" กำไร
ผู้บริหารดีอี แคปปิตอล กล่าวว่า จากภาวะที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องเร่งปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อพยุงกำไรปี 2548 ด้วยการขยายฐานรายได้ โดยจะปล่อยเช่าซื้อรถปิกอัพ ซึ่งช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มทำบ้างแล้ว แต่จากนี้ไปจะรุกจริงจังมากขึ้น แต่ไม่สามารถตั้งเป้าได้ว่าพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถปิกอัพจะเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเห็นชัดเจนปีหน้า สำหรับอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทปี 2548 ตั้งเป้าว่าจะต่ำกว่าการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนรวม (สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์คาดว่าปี 2548 บริษัทจดทะเบียนกำไรขยายตัวจากปี 2547 ประมาณ 10%)

"ซิงเกอร์" มาร์จิ้นหดทำกำไรวูบ 46%
ส่วนบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ทำธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า จักรเย็บผ้า และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น พบว่ากำไรสุทธิไตรมาสแรกลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 46.18% โดยมีกำไรสุทธิ 41.91 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 77.87 ล้านบาท

ขณะที่นายประทีป แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.ซิงเกอร์ฯ ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ถึงผลการดำเนินงานที่ลดลงว่า เกิดจากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสแรกที่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 21.4% จากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง จึงทำให้สัดส่วนรายได้จากการขายรถจักรยานยนต์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยอดขายที่มีระยะเวลาการผ่อนชำระที่ 36 งวดได้เพิ่มขึ้นถึง 100% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้รายได้จากการขายรถจักรยานต์คิดเป็นสัดส่วน 43.2% และรายได้จากการผ่อนชำระของบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.7% นอกจากนี้ยังเกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของรถจักรยานยนต์อยู่ที่ประมาณ 6-10% ซึ่งต่ำกว่าอัตรากำไรขั้นต้นของการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและจักรเย็บผ้าซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35-40% จึงทำให้กำไรขั้นต้นในไตรมาสแรกสูงกว่าปีก่อนเพียง 6.4%

ออมสินระวังปล่อยกู้โครงการธ.ประชาชน
แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารออมสิน เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารออมสิน ได้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วง 5-10% ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ตามปกติของระบบสถาบันการเงิน ส่วนกรณีของสินเชื่อรายย่อยระดับรากหญ้านั้น เท่าที่ผ่านมาเริ่มที่จะมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการธนาคารประชาชน ที่ออมสินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การปล่อยเงินกู้มีความล่าช้ามากขึ้นบ้าง

ตัวเลขเอ็นพีแอลของโครงการธนาคารประชาชน ทางธนาคารออมสินสามารถที่จะดำเนินการให้ปรับลดเอ็นพีแอล ลงมาอยู่ในระดับ 8.0% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จากที่เคยอยู่ในระดับสูงสุด 14.1% ในเดือนตุลาคม 2547 ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 มีสมาชิกยื่นกู้จำนวน 1,061,217 ราย และสมาชิกได้รับสินเชื่อ 1,026,837 ราย เป็นเงิน 22,610.97 ล้านบาท มีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน จำนวน 550 ล้านบาท คิดเป็น 8.0% ของสินเชื่อคงเหลือ 6,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 498 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนก่อน 10.4%

สังศิตชี้ผู้มีรายได้ประจำอยู่ลำบาก
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภค ซึ่งในกลุ่มของคนที่มีรายได้ประจำก็จะเกิดภาวะตึงตัว ส่วนกลุ่มคนจนก็จะมีปัญหาในแง่ของรายรับที่เพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย และเกิดปัญหาการค้างชำระหนี้ ซึ่งขณะนี้กล่าวได้กว่ามีปัญหาตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงคนระดับกลาง ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าทุกประเภทปรับราคาขึ้นหมดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงชั่วคราว แต่เป็นเรื่องยากที่ราคาน้ำมันในระยะยาวจะลดลง

"เมื่อกำลังซื้อลดลง ก็จะมีผลต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันการส่งออกให้ขยายตัว 20% ในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจเหมือนกรณีการบริโภคภาคเอกชน"

ค่ายรถอัดกิจกรรมผวายอดดิ่ง
นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกลุ่มไทยมอเตอร์ไซเคิล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ไทเกอร์ ซึ่งผลิตและจำหน่ายโดยคนไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ในภาพรวมนั้นมีการถดถอยอย่างมาก เนื่องมาจากที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้ส่งผลด้านจิตวิทยาต่อกลุ่มลูกค้าโดยตรงคือ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มที่มีรายได้น้อย ทำให้มีการชะลอการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ออกไป ซึ่งการถดถอยของยอดขายรถจักรยานยนต์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

บรรดาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยต่างก็มีการปรับตัว โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน และกระตุ้นการขาย ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดขายในปีนี้อาจจะถดถอยลงจากปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวเลข 2.1 ล้านคัน เหลือเพียง 1.95-2.0 ล้านคันเท่านั้น

"สำหรับในเรื่องของสถิติการยึดรถนั้น เฉพาะของไทเกอร์นั้นไม่มีความผิดปกติ ขณะเดียวกันในเรื่องของยอดขายในปีนี้ก็ถือว่ามีอัตราการเติบโตและขยายตัวดีที่สุดเมื่อเทียบกับทุกยี่ห้อ ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่าเราได้มีการขยายเครือข่ายการจำหน่ายและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจำหน่ายรถ ทำให้มียอดขายขยายตัวกว่า 125% ขณะที่ตลาดรวมหดตัวถึง 2%"

ยอดจำหน่ายมอเตอร์ไชต์ Q1 ลดลง 12%
มีรายงานตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 (มกราคม-เมษายน) พบว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 656,219 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบถดถอยของยอดขายแบบต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฉพาะในเดือนเมษายนยอดขายรถจักรยานยนต์ได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม มีจำนวนยอดขายทั้งสิ้น 130,774 คัน ลดลง 12% ซึ่งนับว่าเป็นการถดถอยของตลาดเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาโดยความวุ่นวายในภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายรวมในภูมิภาคดังกล่าวและกระทบมาถึงยอดขายรวมระดับประเทศ ขณะที่ปัจจัยด้านภาวะน้ำมันแพง ก็ได้ส่งผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์เช่นกัน

ฮอนด้า อัดกิจกรรมดึงกำลังซื้อ
ก่อนหน้านี้นายโมโตฮิเดะ ซูโดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมายอดขายรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อรวมกันเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่ทำนายไว้ตลอดทั้งปีว่าจะมีการเติบโตถึง 5% ซึ่งปัจจัยหลักนั้นมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ยอดขายในภาคใต้ลดลงและนอกจากนี้ยังผลกระทบมายังตลาดรวม อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าสถานการณ์อาจจะคลี่คลายไปในทางที่ดีและยอดขายก็อาจจะกลับไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ที่ผ่านมานั้นฮอนด้าก็เคยประสบเหตุการณ์ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า และกำลังการผลิตเหลือเนื่องจากตลาดชะลอตัว ซึ่งเราก็ได้ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ภายนอก ด้วยเป้าหมายการผลิต 1.5 ล้านคันในปีนี้ ด้วยการผลิตเต็มพิกัด

ตจว.ค้างส่งไฟแนนซ์
แหล่งข่าวผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์โดยรวมในภาคอีสานตกลงมาหลายเดือนตั้งแต่ปีใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัว จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเกษตรกรได้รับความเสียหาย ประกอบกับเป็นช่วงที่จะเปิดเทอม ลูกค้าต้องนำเงินไปใช้จ่ายบุตรหลานแทนซื้อรถคันใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับรถฮอนด้ายังมียอดขายเติบโตขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ทั้งดาวน์ต่ำ อัตราดอกเบี้ยถูก เป็นต้น

"ส่วนปัญหาที่ลูกค้าขาดส่งค่างวดจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่ทางร้านจะทำได้คือ คือการใช้มาตรการผ่อนผัน บรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ต้องมีการผ่อนผันค่างวดให้กับลูกค้ากว่า 50% โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นข้าราชการในพื้นที่ ส่วนกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าหลักส่วนใหญ่ยังส่งค่างวดตามปกติ แม้สินค้าเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้งก็ตาม"

ลูกค้า 3 จว.ชายแดนใต้หมดแรงส่ง
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ค้ารถจักรยานยนต์ในภาคใต้กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดของที่นั่นว่ายอดขายค่อนข้างซบเซาตั้งแต่ต้นปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมตลอดจนวิกฤติราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ยังไม่คลี่คลาย มีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างมาก ทำให้ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังประสบปัญหาลูกค้าขาดส่งค่างวดผ่อนรถค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มเป็นลูกค้าเอ็นพีแอลก็หลายราย ทำให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการสินเชื่อครบวงจร เริ่มคุมเข้มเรื่องปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

"ที่ผ่านมาตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์มีการแข่งขันสูง แต่ละบริษัทก็พยายามเสนอเงื่อนไขการผ่อนที่จูงใจลูกค้า ด้วยการลดเงินดาวน์ลงมาให้ต่ำๆ แค่ 5 บาท กับมีเพียงบุคคลค้ำประกัน ก็สามารถออกรถได้แล้ว แถมระยะเวลาในการผ่อนก็นาน 36 งวด ดอกเบี้ยแค่ 1.5% ทำให้ยอดขายในปีที่ผ่านๆ มา มีการเติบโตอย่างมาก แต่ขณะนี้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ลูกค้ามีปัญหาการผ่อนตามมาเป็นลูกโซ่ ลูกค้าใน 3 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำสวนยาง ประมง และผู้ค้าแรงงานจากต่างถิ่นที่เข้ามาทำมาหากิน ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้ากลุ่มนี้จะขาดการติดต่อไป ด้านการติดต่อทวงหนี้ก็ค่อนข้างเป็นไปอย่างลำบาก"

สินค้าอุปโภค-บริโภคยอดตก
นางสาวปิยะวรรณ ทรงไพบูลย์ ผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารสุนิศา จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ "สุนิศา" เปิดเผยว่า ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคส่งผลกระทบกับยอดขายของบริษัทที่ขณะนี้ลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าภาพรวมของอาหารสำเร็จรูปต่างๆ จะลดลงเช่นกัน เหตุผลเป็นเพราะผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งขณะนี้เริ่มระมัดระวังค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย เนื่องจากรายได้ที่ได้รับต่อเดือนเท่าเดิม แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้คนพิจารณาและรอบคอบในการตัดสินใจซื้อ และจะซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ขณะที่กลุ่มเสื้อผ้าโลคัลแบรนด์ นายชาลี รัตนวชิรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำหนึ่งการตลาด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์"เป่ายิ้งฉุบ" เปิดเผยว่า จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการค้าส่งเสื้อผ้าบางรายได้ปิดกิจการไปแล้ว เนื่องจากไม่มีการวางแผนรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบจากรณีดังกล่าวเช่นกัน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นราว 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่คาดว่าจะเหลือเพียง 50% เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทได้เตรียมแผนรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้ง การปรับระบบช่องทางจำหน่าย

ขวัญใจคนจนบะหมี่ยอดขายพุ่ง
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเด้นฟู้ด จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปไตรมาสแรกเติบโตสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากตัวสินค้าที่ไม่มีการปรับราคา ประกอบกับคนเริ่มประหยัดและหันกลับมารับประทานกันมากขึ้น โดยในส่วนของบริษัทนั้นมีอัตราการเติบโตประมาณ 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมียอดขายเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอนจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5-6%

นายปิติ ลีเลิศพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และคนให้ความนิยมใช้สมุนไพรมากขึ้น คาดว่าตลอดปีนี้จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15%

ด้านนางบุษกร อ่อนประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้น 8% ในไตรมาสแรก ทั้งนี้การที่ยอดขายเติบโตขึ้นนั้นเนื่องจากน้ำมันพืชเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นเดียวกับสินค้าคอนซูเมอร์ประเภทอื่นๆ

ธุรกิจบันเทิงยอดล่วงถ้วนหน้า
นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้รายได้จากการขายโฆษณาลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยคือ ทั้งคลื่นยักษ์ ปัญหาภาคใต้ เศรษฐกิจชะลอคนไม่มั่นใจภาวะโดยรวม สินค้าและบริการชะลอการใช้งบโฆษณา อีกทั้งค่าใช้จ่ายของบริษัทฯเพิ่มขึ้นจากการทำละคร ส่งผลให้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้ รายได้จากโฆษณาลดลงไปมากกว่า 50% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดไม่เคยเป็นมาก่อนเหลือเพียง 200 กว่าล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น

โดยตัวเลขของบีอีซีเวิลด์ระบุว่า ไตรมาสแรกปีนี้ขายเวลาโฆษณาได้ 1,109 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสก่อน 14% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15% ขณะที่กำไรนั้นมีเพียง 153 ล้านบาท ลดลงต่ำกว่าไตรมาสก่อนกว่า 84 ล้านบาท และต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว 278 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเอนเตอร์เทรนเมนต์ ล่าสุด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ออกมาเผยตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ปรากฏว่า โดยรวมบริษัทมีผลกำไรลดลงเฉลี่ย 65% (กำไรสุทธิ 88.09 ล้านบาท เปรียบเทียบกับกำไรสุทธิของปีที่แล้วอยู่ที่ 256.39 ล้านบาท) โดยมีรายได้ในไตรมาสแรกทั้งหมด 1,275 ล้านบาท ลดลงไปเฉลี่ย 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1,531 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงนั้นมาจากการขายอัลบั้มแพลงที่ลดลงไปเฉลี่ย 21% การจัดคอนเสิร์ตรายได้ลดลงเฉลี่ย 77%