ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > เอแบคโพลล์ : วินัยจราจรของคนไทย และความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เอแบคโพลล์ : วินัยจราจรของคนไทยและความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่มา - ABAC Poll วันที่ 15 ส.ค.48

ที่มาของโครงการ
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากข่าวอาชญากรรมแล้ว ยังมีข่าวที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ ไม่เว้นในแต่ละวัน ซึ่งปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ เมาแล้วขับ หลับใน เสพสารเสพติดที่มีฤทธิ์กดประสาท แต่ก็มีอีกปัญหาหนึ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้นั้นก็คือ การกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น แต่นี้แหละคือต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่ปัญหา อาทิ การไม่สวมหมวกกันน็อค การขับรถเร็วเกินกว่าที่ป้ายกำหนด การขับรถบนไหล่ทาง การขับรถย้อนศร เป็นต้น ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตรวจตราอยู่เสมอ และทุกคนปฏิบัติตามกฏจราจรแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จะพบน้อยลงหรืออาจจะไม่มีอีกเลย

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงทำการสำรวจภาคสนามหาข้อมูลเชิงสถิติศาสตร์ จากประชาชนผู้ขับขี่รถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถึงความคิดเห็นที่มีต่อวินัจจราจร และความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการจัดส่งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพนักงานเก็บรวบรวมข้อมูลลงพื้นที่ตัวอย่างที่ถูกสุ่มได้ตามหลักวิชาการด้านระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจประสบการณ์ปัญหาพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ของคนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2. เพื่อสำรวจประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกระทำผิดด้านจราจร
3. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในหัวข้อเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์
โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้ เรื่อง "วินัยจราจรของคนไทยและความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ : กรณีศึกษาผู้ขับขี่รถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี" ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจวันที่ 1–13 สิงหาคม 2548

+ ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
+ กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนผู้ขับขี่รถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี
+ เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่างได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) ในการแบ่งเขตพื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกำหนดลักษณะให้สอดคล้องกับประชากรจากการทำสำมะโน
+ ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ คือ 1,709 ตัวอย่าง
+ ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5
+ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม
+ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ
หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูล และงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

เพศ ตัวอย่างร้อยละ 75.8 ระบุเป็นชาย ร้อยละ 24.2 ระบุเป็นหญิง
อายุ ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 39.2 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 35.5 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 14.7 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 6.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป
สถานภาพ ตัวอย่างร้อยละ 50.9 ระบุสถานภาพโสด ร้อยละ 43.7 ระบุสถานภาพสมรส ร้อยละ 3.3 ระบุเป็นหม้าย และร้อยละ 2.1 ระบุหย่าร้าง/แยกกันอยู่
ระดับการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 62.8 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32.4 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.8 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
อาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 33.9 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 23.3 ระบุอาชีพค้าขาย /ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 18.4 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10.1 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.5 ระบุเป็นนักศึกษา ร้อยละ 2.5 ระบุไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 2.0 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 1.3 ระบุอาชีพเกษตรกร

บทสรุปผลสำรวจ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยว่า ผลสำรวจเรื่อง "วินัยจราจรของคนไทยและความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" ในครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากตัวอย่างประชาชนผู้ขับขี่รถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,709 ตัวอย่าง ซึ่งได้ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 1-13 สิงหาคม 2548 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจดังนี้

เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึง ประสบการณ์ในการเคยพบเห็นรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 73.8 เคยเห็นคนขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการเคยพบเห็น 21 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 26.2 ไม่เคยพบเห็น

สำหรับประสบการณ์ในการเคยพบเห็น คนขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.1 เคยเห็นคนขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการเคยพบเห็น 28 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 16.9 ไม่เคยพบเห็น

เมื่อกล่าวถึงประสบการณ์ในการเคยพบเห็น รถยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 เคยเห็นคนขับขี่รถยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการพบเห็น 14 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 34.8 ไม่เคยพบเห็น

สำหรับประสบการณ์ในการเคยพบเห็น คนขับรถเกินความเร็วที่ป้ายกำหนด ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 เคยเห็นคนขับรถเกินความเร็วที่กำหนดไว้ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการเคยพบเห็น 41 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 29.1 ไม่เคยพบเห็น ยิ่งไปกว่านั้น คณะผู้วิจัยยังได้สอบถามต่อไปถึง บริเวณที่เคยพบเห็นคนขับรถเกินความเร็วที่ป้ายกำหนดไว้ พบว่า 5 อันดับแรก คือ ถนนวงแหวนรอบนอก (ร้อยละ 57.3) บนทางด่วน (ร้อยละ 53.1) ถนนวิภาวดีรังสิต (ร้อยละ 50.8) ถนนพหลโยธิน (ร้อยละ 48.1) และถนนเพชรเกษม (ร้อยละ 44.0) ตามลำดับ

เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงประสบการณ์ในการเคยพบเห็น คนขับรถบนไหล่ทาง ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.1 เคยเห็นคนขับรถบนไหล่ทาง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการเคยพบเห็น 38 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 25.9 ไม่เคยพบเห็น

สำหรับประสบการณ์ในการเคยพบเห็น คนขับรถย้อนศร ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.9 เคยพบเห็นคนขับรถย้อนศร ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการเคยพบเห็น 32 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 35.1 ไม่เคยพบเห็น

ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ยังเปิดเผยผลสำรวจถึง ความมีวินัยจราจรของคนขับรถ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.3 มีความเห็นว่า ควรปรับปรุงวินัยจราจรของคนขับรถ และร้อยละ 12.7 มีความเห็นว่าไม่ต้องปรับปรุงอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างยังระบุความเห็นต่อน้ำใจของคนขับรถที่มีให้ต่อกันเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยเจอในอดีตนั้น ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.3 ระบุว่ามีน้ำใจให้กันลดน้อยลง ร้อยละ 18.7 ระบุว่ามีน้ำใจให้กันเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 16.0 ไม่มีความเห็น

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือ ความพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการเข้มงวดจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์ที่กระทำผิดกฎจราจร เมื่อจำแนกตามเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ "พอใจ" ในการเข้มงวดจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวคือ ตำรวจสมุทรปราการ (ร้อยละ 61.3) ตำรวจนนทบุรี (ร้อยละ 50.6) ตำรวจนครบาล (ร้อยละ 48.8) ตำรวจปทุมธานี (ร้อยละ 48.2) และตำรวจทางหลวง (ร้อยละ 47.9) ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึง ความพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการให้บริการประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อจำแนกตามเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ "พอใจ" ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวคือ ตำรวจนครบาล (ร้อยละ 61.4) ตำรวจนนทบุรี (ร้อยละ 59.4) ตำรวจปทุมธานี (ร้อยละ 53.8) ตำรวจสมุทรปราการ (ร้อยละ 52.7) และตำรวจทางหลวง (ร้อยละ 50.8) ตามลำดับ