ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > ผุด "โมโปร โมโตนิค" แฟรนไชส์ซ่อม 2 ล้อ
ผุด "โมโปร โมโตนิค" แฟรนไชส์ซ่อม 2 ล้อ
ที่มา – กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 ม.ค.49

กลุ่มคลัสเตอร์รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน "เอสเอ็มอี 007 พลัส" ผนึกพันธมิตรใหม่นับ 10 ราย เตรียมเปิด "โมโปร โมโตนิค" แฟรนไชส์ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ นำร่อง 2 สาขาแรกในอาชีวศึกษา ตั้งเป้าปีแรก 25 สาขา

นายชยพล คติการ ประธานคลัสเตอร์รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนเอสเอ็มอี 007 พลัส (SME 007 PLUS) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 10 ราย อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาชีวศึกษา ซอฟต์แวร์ ปาร์ค และผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เพื่อรุกธุรกิจแฟรนไชส์ร้านซ่อมรถในชื่อ "โมโปร โมโตนิค" (Mo Pro Motonik) ซึ่งจะเป็นแฟรนไชส์ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งแนวใหม่ ที่เป็นช่องทางกระจายสินค้าของสมาชิกเอสเอ็มอี 007 พลัส โดยอยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพของตลาด และล่าสุดได้เปิดสาขานำร่องไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ในสถาบันอาชีวศึกษาฐานเทคโนโลยี ย่านถนนพระราม 2 และสถาบันอาชีวะภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี

นายชยพล กล่าวว่า โมโปร โมโตนิค เป็นโครงการต่อเนื่องของแผนยกระดับเอสเอ็มอีไทย ที่อยู่ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ในตลาดทดแทน หรือ REM ในปี 2549 ในแผนโครงการร้านช่างเครือข่าย ซ่อมรถจักรยานยนต์แบบแฟรนไชส์ (Mo Pro Shop) และนอกจากนี้ ยังมีอีก 4 โครงการที่เหลือ ได้แก่

+โครงการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ (Mo Pro Part)
+โครงการสร้างฐานความรู้มุ่งสู่การประกอบรถจักรยานยนต์แบบมืออาชีพ (Mo Pro Bike)
+โครงการสร้างตรามาตรฐานคุณภาพ (Mo Pro Mark) และ
+โครงการยกระดับธุรกิจการค้า (Mo Pro Trade)

"โมโปร โมโตนิค จะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของเอสเอ็มอีและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีโมโตนิค ซึ่งเป็นทีมบริหารงานร้านแฟรนไชส์อะไหล่รถจักรยานยนต์ ที่มีประสบการณ์จาก สยามยามาฮ่า และ เคพีเอ็น พลัส คอยดูแล โดยในปีแรกนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 25 สาขา ตอนนี้อยู่ระหว่างตกลงกับพันธมิตรแต่ละรายถึงแผนการลงทุน คาดว่าในช่วงกลางปีนี้น่าจะรุกตลาดได้อย่างจริงจัง" นายชยพล กล่าว

ทั้งนี้ เอสเอ็มอี 007 พลัส เกิดจากการผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันยานยนต์ รวมกันเป็นพันธมิตรธุรกิจรายย่อยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสมาชิกที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี ทั้งสิ้น กว่า 100 ราย มีรายได้จากยอดขายทั้งในประเทศและส่งออกทั้งกลุ่มรวม กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี และตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ 20% หรือคิดเป็นเป้ารายได้รวม 2 หมื่นล้าน ในด้านสมาชิก มีเป้าจะเพิ่มจำนวนสมาชิกธุรกิจ 100 กิจการต่อปี จนครบ 300-400 ราย และในช่วงไตรมาสที่ 3 ก็เตรียมที่จะจัดงานไทยแลนด์คลัสเตอร์เดย์ ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างโอกาสและเป็นช่องทางให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรม

นายชยพล กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดรวมรถจักรยานยนต์ใหม่โต 3% ยอดขายรวม 2.1 ล้านคัน ปี 2549 คาดว่าการเติบโตจะลดเหลือ 1-2% เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังปีนี้ แต่ตลาดอะไหล่ทดแทนจะเติบโตและคึกคักมาก นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ค่ายรถจักรยานยนต์ มีการจัดรายการส่งเสริมการขายมากมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถใหม่ โดยแคมเปญเฉพาะดาวน์ต่ำ ทำให้ผู้บริโภคทิ้งรถเก่า หันไปใช้รถใหม่ตลาดอะไหล่ทดแทนเลยชะลอตัว แต่เมื่อผ่านไป 6-10 เดือน จะเริ่มนำรถเหล่านั้นเข้าร้านซ่อมหรือศูนย์บริการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ โมโปร โมโตนิค เริ่มดำเนินธุรกิจ ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้