ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > "ยามาฮ่า" ทำใจดีสู้เสือ "ฮอนด้า" เทงบเพิ่มกำลังผลิตรับตลาดโต
"ยามาฮ่า" ทำใจดีสู้เสือ "ฮอนด้า" เทงบเพิ่มกำลังผลิตรับตลาดโต
ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19-22 ม.ค.49

เปิดแผน "ยามาฮ่า" ปี 49 เชื่อตลาดออโตเมติกยังแรง ประกาศมั่นใจยังรักษาแชมป์ได้ชัวร์ หลังค่ายยักษ์ใหญ่เปิดตัวรถออโตเมติกมาสู้ ชี้เป็นผลดีให้ตลาดมีความเคลื่อนไหว เตรียมลงทุนขยายกำลังเพิ่มรองรับส่วนแบ่งตลาดโต

นายทากาฮิโกะ โกอัน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของ ยามาฮ่า ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ ทั้งด้านยอดการจำหน่ายและส่วนแบ่งทางการตลาดที่โตขึ้นทุกเดือน

โดยปีที่ผ่านมา ยามาฮ่า ทำยอดขายรถจักรยานยนต์ได้ประมาณ 397,000-398,000 คัน โต 19% โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายส่วนแบ่งในตลาด เพิ่มขึ้นสูงถึง 20% โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยามาฮ่า มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มสูงถึง 27% จากตัวเลขการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก

จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ ยามาฮ่า เชื่อมั่นว่าแนวคิดและแนวทางที่เดินมานั้นถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของรถออโตเมติก ซึ่งขณะนี้คู่แข่งทั้ง ฮอนด้า และ ซูซูกิ กำลังเดินตามแนวทางที่ ยามาฮ่า ได้ทำมาเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากที่ได้เปิดตัว มีโอ และนูโว ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ ยามาฮ่า เป็นผู้นำตลาดออโตเมติกในเมืองไทยในขณะนี้

สำหรับภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ออโตเมติกนั้น ยามาฮ่า มั่นใจว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้เตรียมแผนการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ออโตเมติกออกสู่ตลาดอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้เพราะรถรุ่นนี้มีความได้เปรียบในเรื่องของความสะดวกสบาย เหมือนเช่นตลาดรถยนต์ที่เดิมรถยนต์ประเภทเกียร์อัตโนมัติยังไม่ได้รับความนิยม แต่เมื่อลูกค้าได้เรียนรู้และสัมผัสถึงความสะดวกสบายที่มีมากกว่า ส่งผลให้รถยนต์ประเภทนี้ได้รับความนิยม และมีสัดส่วนการขายสูงกว่าเกียร์ธรรมดา

การที่หลายฝ่ายมองว่าตลาดของรถครอบครัวซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบจากตลาดออโตเมติกหรือไม่นั้น สำหรับ ยามาฮ่า จะต้องมีการออกผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมตลาดอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น รถบางรุ่นจะถูกออกแบบมาสำหรับกลุ่มลูกค้าบางกลุ่ม เช่น สปาร์ค 135 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเป็นสปอร์ตที่มีประสิทธิภาพสูง

ส่วนตลาดออโตเมติกจะได้ในเรื่องของความสะดวกสบายในการใช้งานดีกว่ารถครอบครัวทั่วไป ยิ่ง ฮอนด้า และ ซูซูกิ หันกลับมาทำตลาดออโตเมติก ทำให้เชื่อว่าตลาดจะมีแนวโน้มที่ดี และลูกค้าจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี

สำหรับเป้าหมายทางการตลาดปีนี้ ยามาฮ่า ยังยืนยันตามเป้าเดิมที่ "โทโมทากะ อิชิกาวา" ประธานคนเก่า ได้ตั้งไว้ว่า จะต้องมีส่วนแบ่งในตลาดออโตเมติกอยู่ที่ 40% นอกจากนี้ยังจะมีการหาสินค้ามาเสริมความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่แต่ละครั้งจะมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

"นับจากนี้ไปแนวทางของ ยามาฮ่า จะเป็นการทำงานรวมกันมากขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่การมองแค่ ยามาฮ่าประเทศไทย แต่เราจะมองไปถึง ยามาฮ่าอาเซียน ซึ่งจะเป็นไปในภาพรวมของตลาด โดยเฉพาะการทำรวมกันในเรื่องของโปรดักต์มากขึ้น เช่น การใช้ชื่อรุ่นที่เหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาค เป็นต้น โดยมีพื้นฐานเหมือนกันหมด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างนี้"

สำหรับตลาดที่ ยามาฮ่า คิดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูงมีอยู่หลายตลาด คือ ตลาดอาเซียน ปากีสถาน ไต้หวัน อินเดีย รวมถึงตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสดใส เมื่อเปรียบเทียบกับ 135 ประเทศ ที่ ยามาฮ่า ดูแลอยู่ และถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตสูงสุดใกล้เคียงกับแอฟริกา

ส่วนประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ตลาดโดยรวมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมีอัตราการเติบโต ส่วนการลงทุนนั้นจะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายส่วนแบ่งตลาดที่วางไว้ในอนาคต

ด้านการจัดงาน "ยามาฮ่า แพน อาเซียน ทัวริ่ง" ซึ่งกำลังจัดขึ้นในขณะนี้ เป็นแผนการดำเนินงานของยามาฮ่าประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการจัดกิจกรรมรวมกันของกลุ่ม ยามาฮ่า ในภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยใช้รถยามาฮ่า สปาร์ค 135 ด้วยเงินลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นประมาณ 30-40 ล้านบาท ส่วนประเทศไทยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท