ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > วิบากกรรมค่ายรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นในจีน
วิบากกรรมค่ายรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นในจีน
ที่มา – กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 ส.ค.49

บรรดาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชื่อดังของโลกหลายแห่ง รวมทั้ง ยามาฮ่า เริ่มมองอินเดีย เป็นเป้าหมายต่อไปในการทำตลาด หลังจากล้มเหลวในการทำยอดขายรถจักรยานยนต์ในหมู่ชาวจีน ที่พึงพอใจกับรถจักรยานยนต์ราคาถูก รถที่ลักลอบนำเข้ามาขาย และรถที่ผลิตในประเทศมากกว่า

ในตลาดรถจักรยานยนต์แดนมังกร ซึ่งถือเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวจีน ซื้อรถจักรยานยนต์มากกว่า 16 ล้านคันต่อปี ทำให้เกิดผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติจีนหลากหลายยี่ห้อ และผู้ผลิตเหล่านี้ ครองส่วนแบ่งตลาดข้างมาก ด้วยกลยุทธ์ตัดราคาขาย ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่จากต่างแดน อาทิ ฮอนด้า มอเตอร์โค ยามาฮ่า มอเตอร์ และซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ป พบกับความยากลำบาก

จีน เป็นตลาดสำหรับรถจักรยานยนต์ทุกประเภท และรถจักรยานยนต์ ได้กลายเป็นพาหนะหลักสำหรับชาวจีนส่วนใหญ่ ต่อไปนี้คืออุปสรรค ที่ทำให้ค่ายรถจักรยานยนต์ต่างชาติมองว่า จีนเป็นตลาดที่เจาะยาก

ความเชื่อมั่นในตราผลิตภัณฑ์ของลูกค้า
บรรดาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แดนปลาดิบ มีเครือข่ายการผลิตที่มีขนาดใหญ่โตพอสมควรในจีน ขณะที่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์หรู อาทิ หน่วยงานผลิตรถจักรยานยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู และฮาร์เลย์-เดวิดสัน ยังคงมองว่า จีนเป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่ผู้เล่นในท้องถิ่น อาทิเช่น กวางโจว มอเตอร์ ซ่งเจิน

มอเตอร์ไซค์และเซี่ยงไฮ้ เฟยหลิง มอเตอร์ไซค์ กลับครองส่วนแบ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กในประเทศทั้งยังใช้วิธีขายตัดราคาคู่แข่งจากแดนซามูไร จนบางครั้ง ราคาของรถจักรยานยนต์ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดลดลงไปถึง 30%

"ปัญหาประการแรกของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น คือ จีนมีบริษัทที่ผลิตรถราคาถูก เน้นทำยอดขายปริมาณมาก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ" โนริยูกิ มัตซึชิมะ นักวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ นิกโก้ ซิติ ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นรถจักรยานยนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การที่บรรดาผู้ผลิตท้องถิ่น ลอกเลียนแบบรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยามาฮ่าในกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า รถจักรยานยนต์ทุก 5 ใน 6 คันภายใต้ตราผลิตภัณฑ์ของบริษัท จะถูกก๊อบปี้โดยผู้ผลิตแดนมังกรที่ไร้จริยธรรม

แม้ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้วในปัจจุบัน แต่รถจักรยานยนต์ยามาฮ่าที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ยังคงไปปรากฏตัวอยู่ตามตลาดต่างๆ นอกจีนแผ่นดินใหญ่

ขณะที่ การต่อสู้ด้านราคากับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แดนมังกร ซึ่งตั้งราคารถจักรยานยนต์ในระดับปานกลาง ไว้ที่ 600 ถึง 1,000 ดอลลาร์ ยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับฮอนด้าและยามาฮ่า ซึ่งมีข้อตกลงด้านการลงทุน การผลิต และทำการตลาดร่วมกันในจีน

ปัญหาด้านราคา
ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ฮอนด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่สุดของโลก ได้เริ่มผลิตรถจักรยานยนต์ขนาด 100 ถึง 125 ซีซี และรถสกู๊ตเตอร์ ผ่านอู๋หยาง-ฮอนด้า หน่วยงานพันธมิตรของบริษัทกับกวางโจว มอเตอร์ส โดยพันธมิตรคู่นี้ ตั้งโรงงานมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ที่เมืองกวางโจวในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จนถึงปีที่แล้ว ฮอนด้ามีส่วนแบ่งตลาดในจีนเพียง 6% เท่านั้น ทั้งๆ ที่บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลกถึง 30%

ด้านยามาฮ่า ซึ่งครองส่วนแบ่ง 10% ในตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลก กลับมีส่วนแบ่งตลาดรถดังกล่าวน้อยกว่า 2% ในจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งฮอนด้าและยามาฮ่า ได้เริ่มส่งรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในจีน เข้าไปขายในตลาดอื่นๆ และเล็งตลาดที่กำลังโตของอินเดีย โดยเมื่อปี 2547 ยามาฮ่าส่งออกรถจักรยานยนต์ รุ่น วายบีอาร์ 125 จำนวน 8,000 คันจากจีนไปยังยุโรป และเพิ่มจำนวนเป็น 25,000 คันในปี 2548

ยาตราทัพสู่อินเดีย
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยามาฮ่าได้เข้าไปเปิดสาขาในเมืองสุราชปุระ ชานกรุงนิวเดลี เพื่อจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ยามาฮ่าและให้บริการหลังการขาย อีกทั้ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ฮอนด้าและฮีโร่ กรุ๊ป พันธมิตรในอินเดีย ยังประกาศทำตลาดรถจักรยานยนต์ 125 ซีซี รุ่นแกลมัวร์ เอฟ1 โดยโรงงานผลิต 2 แห่งในอินเดียของทั้ง 2 บริษัทจะมีกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 3.4 ล้านคัน ทั้งยังมีแผนเปิดโรงงานผลิตแห่งที่ 3 รวมทั้งขยายกำลังการผลิตเป็น 4.4 ล้านคัน ภายในปี 2550

มีการคาดการณ์ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ของอินเดียจะมีอัตราเติบโต 17% หรือเท่ากับ 8.5 ล้านคันในปี 2549 บรรดาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัยจึงพากันตบเท้าเข้าไปในตลาดอินเดียอย่างคึกคัก ด้วยความหวังว่าจะสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาได้ ทั้งยังสบายใจกับประวัติที่ไม่ด่างพร้อยของแดนภารตะ ในเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา