ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > ตลาดรถมอเตอร์ไซค์คึกรับปีเถาะ เทคโนโลยีหัวฉีดแข่งเดือด
ตลาดรถมอเตอร์ไซค์คึกรับปีเถาะ เทคโนโลยีหัวฉีดแข่งเดือด
ที่มา - ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 3 - 5 ม.ค. 2554

ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้นที่คึกคัก ตลาดมอเตอร์ไซค์ก็ดีดรับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มสดใสมาตั้งแต่ต้นปี แม้จะมาชะงักบ้างในช่วงวิกฤตการเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น ทุกค่ายก็ช่วงชิงโอกาสทองนี้งัดเอากลยุทธ์และจุดเด่นของสินค้ามาประชันเพื่อช่วงชิงพื้นที่กันอย่างสุด ๆ

เริ่มต้นสำหรับ ค่ายเอ.พี.ฮอนด้า เจ้าตลาดที่ได้ประกาศการปฏิวัติเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นระบบหัวฉีดสำหรับรถจักรยานยนต์ทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างความเข้าใจของผู้บริโภค ต่อสมรรถนะของมอเตอร์ไซค์ระบบหัวฉีด ที่ฮอนด้าได้ปรับไลน์การผลิตและเตรียมผลิตมอเตอร์ไซค์ระบบหัวฉีดในทุก เซ็กเมนต์ ในปีนี้จึงได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์แนวสปอร์ต ฮอนด้า "ซีบีอาร์ 150 อาร์" กับเครื่องยนต์ขนาด 150 ซีซี หัวฉีด PGM-FI ที่เลือกประเทศไทยเป็นเวทีเปิดตัวครั้งแรกของโลก

และอีกรุ่นที่ตามมาคือ ฮอนด้า "ซีบีอาร์ 250 อาร์" เครื่องยนต์ขนาด 250 ซีซี ที่ใช้ไทยและอินเดียเป็นฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกในเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งกลับมาปลุกกระแสมอเตอร์ไซค์แบบสปอร์ตให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากตลาดมอเตอร์ไซค์บ้านเราไปช่วงระยะหนึ่ง ส่วนมอเตอร์ไซค์ เอ.ที. ซึ่งครองยอดขายสูงสุด ที่ฮอนด้า สกู๊ปปี้ ไอ ยังคงสร้างยอดขายให้กับฮอนด้าอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปีก็ได้โหมตลาดอีกครั้ง หลังจากเปิดตัวมาเป็นระยะเวลาสองปี ด้วยการออกลวดลายกราฟิกแบบใหม่ 3 ซีรีส์ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น

ด้าน ยามาฮ่า หลังจากที่รอดูกระแสมอเตอร์ไซค์หัวฉีดในตลาดมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งสัดส่วนมอเตอร์ไซค์แบบหัวฉีดเพิ่มขึ้นเป็น 62% ส่วนมอเตอร์ไซค์คาร์บูเรเตอร์เหลือประมาณ 38% ก็ทำให้ยามาฮ่าขอเปิดเกมรุกตลาดมอเตอร์ไซค์หัวฉีดสู้ศึกกับเจ้าตลาด ด้วยการส่งมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกหัวฉีดโมเดลแรกคือ สปาร์ก 135 ไอ

ส่วนโมเดลที่สอง หลังจากที่ยามาฮ่าได้ทำการวิจัยพบว่าความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น จึงส่งยามาฮ่า"ฟีโอเร่" รถจักรยานยนต์หัวฉีดอัจฉริยะ "YMJET" เทคโนโลยีหัวฉีดระบบใหม่ล่าสุดจากยามาฮ่า เป็นรถจักรยานยนต์เซ็กเมนต์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงโดยเฉพาะ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดโดยการดึงกลุ่มศิลปินนักร้องชาวเกาหลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และการมุ่งเน้นทำการตลาดแบบไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง

ขณะที่ ซูซูกิ ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการทยอยเปลี่ยนแปลงระบบหัวฉีด ซึ่งอาจจะยังไม่มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นระบบหัวฉีดทั้งหมด โดยในช่วงเดือนมีนาคมได้เปิดตัวนิวสแมช ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ที่เป็นธงของการทำการตลาด ส่วนเดือนพฤษภาคมได้เปิดตัว เจลาโต้ พังค์ และคิวท์ นอกจากนี้ให้ความสำคัญกับรถจักรยานยนต์ครอบครัว ที่มีซูซูกิ โชกัน 125 มาพร้อมเทคโนโลยีหัวฉีดแบบ "EPI" (Electronic petrol injection) ที่เปิดตัวในช่วงปลายปี มีจุดเด่นที่การประหยัด น้ำมัน รองรับทั้ง E20 และแก๊สโซฮอล์ 95 ส่วนอีกรุ่นคือ ซูซูกิ 125 ฮายาเต้ ใหม่ รถจักรยานยนต์สปอร์ตออโตเมติก 125 ซีซี ที่ใช้เทคโนโลยีหัวฉีดแบบ DCP-FI

ด้านการทำการตลาดนั้น ทุกค่ายมอเตอร์ไซค์ต่างก็มีวิธีการในการทำการตลาดในหลายรูปแบบ ทั้งการทำการตลาดแบบไลฟ์สไตล์, รีเลชั่นมาร์เก็ตติ้ง, มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง และอื่น ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคแบบครบวงจร

ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2553 ค่ายสองล้อมียอดจดทะเบียนรวม 1,000,000 คัน แต่ปัญหาน้ำท่วมก็ส่งผลกระทบต่อตลาดพอสมควร ทำให้ยอดขายระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนลดลงจากเดือนกันยายนถึง 13,000 คัน และในที่สุดยอดจดทะเบียนรวม 10 เดือน เหลือแค่ 1,500,000 คัน และคาดว่าจนถึงสิ้นปี ตัวเลขยอดจดทะเบียนรวมน่าจะไม่ต่ำกว่า 1,800,000 คัน