ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > ย้อนประวัติรูปแบบทะเบียนรถ ถึงเวลาเปลี่ยนใหม่ใช้ได้นาน 100 ปี
ย้อนประวัติรูปแบบทะเบียนรถ ถึงเวลาเปลี่ยนใหม่ใช้ได้นาน 100 ปี
ที่มา - นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 18 ม.ค.54

ปัจจุบันมีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมากซึ่งเราจะสังเกตได้จากสภาพการจราจรที่ติดขัดเป็นประจำทุกวันในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพมหานครที่ถือว่าชินตาไปเสียแล้ว แต่เมื่อจำนวนรถเพิ่มขึ้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นก็คือ แผ่นป้ายทะเบียนรถ ที่ล่าสุดถึงเวลาแล้วที่ทางกรมการขนส่งทางบกจะประกาศขอเพิ่มเลขทะเบียนรถใหม่ เนื่องจากแผ่นป้ายเก่ามีไม่เพียงพอสำหรับการรองรับรถจดทะเบียนรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว!

แผ่นป้ายทะเบียนรถถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของรถทุกชนิด หากเราสังเกตจะพบว่ามีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบเรื่อยมา โดยเทียนโชติ จงพีร์เพียร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเล่าย้อนถึงประวัติรูปแบบแผ่นป้ายทะเบียนรถว่า ป้ายทะเบียนรถเกิดขึ้นพร้อมกับกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติรถยนต์โกสินทร์ศก 128 (พ.ศ.2452) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการควบคุมรถ ตัวเจ้าของรถเพื่อให้ทราบว่าใครเป็นเจ้าของรถ และเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี

ถึงแม้ว่าจะมีป้ายทะเบียนรถเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ตามหลักฐานได้มีการออกกฎหมายของกระทรวงครั้งแรกเริ่มมีป้ายทะเบียนรถตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 โดยรูปแบบเป็นแบบกท.เรียงดิ่ง มีหมวดตัวอักษรและตัวเลข อยู่ในแผ่นป้ายขนาดมาตรฐานกว้าง 11 ซม. ยาว 39 ซม. พื้นหลังเป็นสีดำ ต่อมาในปีพ.ศ. 2518 มีการเปลี่ยนจากรูปแบบ กท. เรียงดิ่งเป็นแบบเรียงตามแนวนอนส่วนหมายเลขนำหน้าหมวดอักษรมีตัวเดียวเหมือนเดิมแต่มีการเปลี่ยนขนาดแผ่นป้ายเป็นกว้าง 15 ซม. ยาว30 ซม. และพื้นหลังเป็นสีขาว

ในปี พ.ศ. 2524 กรมตำรวจมีการเพิ่มตราโล่ตรงมุมขวาด้านล่างของแผ่นป้ายทะเบียนรถขึ้นมาอีก แต่อีก 2 ปีต่อมา ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนจากตราโล่เป็นตัวย่อ ขส อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน และได้มีการเปลี่ยนงานรับผิดชอบดูแลป้ายทะเบียนรถจากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นของกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งรูปแบบทะเบียนรถยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยมีการเพิ่มจำนวนตัวอักษรเป็น 2 ตัว เช่น กก-9999 รวมทั้งเปลี่ยนขนาดแผ่นป้ายให้ยาวขึ้นจากขนาดกว้าง 15 ซม.ยาว 30 ซม. เป็นกว้าง 15 ซม. ยาว 34 ซม. เนื่องจากมีการเพิ่มตัวอักษรขึ้นมาอีก1 ตัว ส่วนรายละเอียดทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

ต่อมา มีการแก้ไขชื่อจังหวัดจากชื่อเต็ม เช่น กรุงเทพมหานคร เป็น กทม จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ชม ในปีพ.ศ. 2540 แต่ใช้ได้เพียง 1 ปี ก็ต้องกลับมาใช้ชื่อจังหวัดแบบเดิม เนื่องจากมีปัญหาในด้านการมองเห็น เช่น ตัวอักษรตัวเล็กไปบ้าง มองเห็นไม่ชัดบ้าง และบางทีไม่ทราบว่าตัวอักษรย่อนั้นเป็นตัวย่อของจังหวัดใด และ ในปีพ.ศ. 2547 นี้เอง เราเริ่มมีการประมูลเลขทะเบียนรถสวยขึ้นจึงมีการออกกฎกระทรวงให้มีการออกป้ายทะเบียนรถที่เรียกว่า "ป้ายกราฟิก"รวมทั้งได้มีการเพิ่มทะเบียนรถยนต์รถจักรยานยนต์รับจ้างสีเหลืองที่เราเห็นกันจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาตอนนี้คือแผ่นป้ายทะเบียนรถที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถใช้ได้อีกไม่เกิน 2 ปีก็จะหมดลงแล้ว จึงได้มีการคิดคำนวณแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่มาใช้เพื่อรองรับรถที่จะมาจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มตัวเลข 1-9 หน้าตัวอักษรทั้ง 2 หมวดเช่น 1 กก-9999 และถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เปลี่ยนแบบแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ด้วย เพราะแบบเดิมเป็นตัวอักษร 3 ตัว เช่น กกก มีปัญหา เช่น
มองไม่ค่อยชัดหรือมองไม่เห็นและจดจำยาก เราจึงจะปรับเปลี่ยนใหม่เป็นใช้ตัวอักษร 2 ตัว มีเลขนำหน้าเหมือนรถยนต์ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนระบบใหม่พร้อมกันไปเลย คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปีนี้ ส่วนขนาดแผ่นป้ายยังคงใช้ขนาดเท่าเดิม

การเพิ่มขึ้นของรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นจากสถิติย้อนหลังของ ปี พ.ศ.2552 รถยนต์เก๋ง มีจำนวนรถที่มาจดทะเบียนใหม่ประมาณ 296,442 คัน ส่วนปี พ.ศ. 2553 มีจำนวน435,700 คัน เพิ่มขึ้นมาประมาณ 139,258 คัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 46.98 เปอร์เซ็นต์ส่วนรถจักรยานยนต์ในปีพ.ศ. 2552 จดทะเบียนใหม่1,529,350 คัน และในปี พ.ศ.2553 มีจำนวน 1,791,358 คัน เพิ่มขึ้นมา 262,008 คันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 17.13 เปอร์เซ็นต์ หากลองคิดเป็นรายวัน ในปี พ.ศ. 2552 รถเก๋งเฉลี่ยวันละ 1,442 คันและปี พ.ศ. 2553 เฉลี่ยวันละ1,775 คัน เพิ่มขึ้นมา 330 คัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 23 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถจักรยานยนต์ ค่าเฉลี่ยรายวันปี พ.ศ.2552 ประมาณ 5,255 คันส่วนปี พ.ศ. 2553 ประมาณ 5,460 คัน เพิ่มขึ้น 205 คันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 4 เปอร์เซ็นต์

ดูจากสถิติแล้วรถยนต์เก๋งในรายปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทำให้เรามีปัญหาจำเป็นต้องมีทะเบียนใหม่ โดย ป้ายทะเบียนรถใหม่นี้เราสามารถใช้ได้นานกว่า 100 ปี ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้

เดิมเป็นหมวดอักษร กก-9999 เท่ากับมี 9,999 หมายเลข เมื่อเพิ่มตัวเลขนำหน้าขึ้นมา 9 ตัว ก็นำ 9 ไปคูณกับ 9,999 จะได้เท่ากับ 89,991 โดยเรามีหมวดตัวอักษรทั้งหมด 25 หมวด 2 ตัว ก็นำ 25 คูณ 89,991 เท่ากับ2,249,775 และ นำ 25คูณ 2,249,775 อีกครั้งจะได้ 56,244,375 ป้าย และลองนำสถิติจำนวนรถที่จดทะเบียนปี พ.ศ. 2553 คือ 435,700 คันมาหารกับป้ายทะเบียนใหม่ทั้ง 56,244,375 ป้าย เราก็จะได้ 129 ดังนั้นป้ายทะเบียนใหม่นี้จะสามารถใช้งานได้ถึง 129 ปี แต่หากเรานำตัวอักษรทั้งหมดที่ไม่ได้ใช้ที่เหลือมาคิดด้วยก็จะใช้ได้มากกว่านี้

ถึงแม้การคิดค้นทะเบียนรถใหม่นี้จะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกที่ทางกรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการเพื่อรองรับ และบริการให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการซื้อรถใหม่ซึ่งท่านจะต้องมีทะเบียนรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เนื่องจากว่าปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องจราจรซึ่งปัจจุบันเราเป็นห่วงในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ จึงอยากฝากว่าให้คำนึงถึงด้วยว่าแม้เราจะมีป้ายทะเบียนรองรับให้แต่ท่านควรซื้อรถเพื่อความจำเป็นเท่านั้น เพื่อช่วยในเรื่องการจราจร เพราะถ้าซื้อหรือมีรถไว้เยอะ ๆ แต่นำออกมาขับแล้วไม่มีสถานที่ให้ขับก็ไม่มีประโยชน์ โดยปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครมีระบบขนส่งมวลชนอีกหลายสายที่กำลังดำเนินการก่อสร้างคาดว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะแล้วเสร็จ จึงคิดว่าบางครั้งเราควรใช้บริการอื่น นอกเหนือจากการขับรถเองเพื่อช่วยลดปัญหาด้านการจราจรด้วยก็จะเป็นผลดี

สำหรับคนที่มีป้ายทะเบียนแบบเดิมอยู่แล้วอยากจะเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ก็สามารถเปลี่ยนได้ไม่จำเป็นต้องซื้อรถใหม่เพราะการเพิ่มจำนวนรถมาก ๆ ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน และกลางปีนี้เราคงได้เห็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์โฉมใหม่กันแล้ว

"ปัญหาตอนนี้คือแผ่นป้ายทะเบียนรถที่เรามีอยู่ในขณะนี้สามารถใช้ได้อีกไม่เกิน 2 ปีก็จะหมดลงแล้ว จึงได้มีการคิดคำนวณแผ่นป้ายทะเบียนรถยนตใหม่มาใช้เพื่อรองรับรถที่จะมาจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มตัวเลข 1-9 หน้าตัวอักษรทั้ง 2 หมวด เช่น 1 กก-9999"