ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > ไทเกอร์ตั้งชุดเฉพาะกิจให้บริการหลังขายแก้รถเสีย-จอดทิ้ง
ไทเกอร์ตั้งชุดเฉพาะกิจให้บริการหลังขายแก้รถเสีย-จอดทิ้ง
ที่มา - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.54

"ปิติ มโนมัยพิบูลย์" เจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ออกโรงแจงยังให้บริการลูกค้าต่อเนื่องระบุมีศูนย์บริการ 3 แห่ง แถมเปิด "คอลเซ็นเตอร์" ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้บริการทั่วประเทศ เปิดใจจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจหลบกระแสความแรงรถญี่ปุ่น

จากกรณีที่มีประชาชนทั่วไปที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์แล้วมีปัญหาทางด้านเซอร์วิส ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานให้ช่วยดูแล โดยระบุในคำร้องว่า รถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ปัจจุบันได้เลิกทำตลาดไปแล้วนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังนายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบค์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ "ไทเกอร์" ได้รับคำตอบว่า

บริษัทยังคงผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์อยู่ แต่มีข้อจำกัดเรื่องศูนย์บริการปัจจุบันมี 3 แห่ง คือ สมุทรปราการ, รัชโยธิน และสำราญราษฎร์ ส่วนในต่างจังหวัดมีตัวแทนจำหน่ายอยู่เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากจำนวนศูนย์บริการที่น้อยนี้เอง ทำให้บริษัทจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อให้บริการหลังการขายให้กับลูกค้า รวมทั้งมีคอลเซ็นเตอร์หมายเลข 0-2388-0868 ไว้คอยรับเรื่องก่อนที่จะจัดส่งทีมเข้าไปดูแลด้วย

นายปิติได้กล่าวถึงแผนดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันว่า ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาด โดยหันมามุ่งเน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยผลิตรถจักรยานยนต์ในเซ็กเมนต์ที่ไม่ต้องแข่งขันกับแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง โดยหันมาใช้รถจักรยานยนต์แนวย้อนยุคและรถมอเตอร์ไซค์เฉพาะกลุ่มอย่าง"แซคส์" เป็นตัวทำตลาด

"เรายอมรับว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในการแข่งขันของตลาดรถจักรยานยนต์นั้น ไทเกอร์ไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ ๆ จากญี่ปุ่นได้ โดยบริษัทได้ส่งรถจักรยานยนต์ไทยเกอร์รุ่นเรโททำตลาด และเตรียมจะส่งรุ่นสปอร์ตเรโทออกสู่ตลาดอีก 1 รุ่น ปัจจุบันบริษัทมียอดขายแบรนด์ไทเกอร์ในประเทศและตลาดส่งออกอยู่ประมาณ 500-600 คันต่อเดือน" นายปิติกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ปรับแผนธุรกิจใหม่ทั้งหมด โดยหันมาให้น้ำหนักกับการเป็นผู้รับจ้างประกอบรถจักรยายนต์มากขึ้น(OEM) ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยจะใช้ชื่อ"แบรนด์" แตกต่างกันไปตามแต่ละตัวแทนจำหน่ายประเทศนั้น ๆ มีสัดส่วนอยู่ที่ 60% อีก 40% จะเป็นการผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไทเกอร์

ปัจจุบัน บริษัทรับจ้างประกอบรถจักรยานยนต์ให้กับแบรนด์ "บิ๊กบลู" กับ"สตาเลียน" รวมถึงรับจ้างพ่นสีและผลิตชิ้นส่วนอีกจำนวนหนึ่ง โดยใช้โรงงานที่สมุทรปราการเป็นฐานการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาด จากปัจจุบันบริษัทจะผลิตรถจักรยานยนต์20,000-30,000 คัน/ปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 70,000-80,000 คัน/ปี

"จากการที่เราตัดสินใจหันมารับจ้างประกอบรถมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งออกให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทำให้ยอดการผลิตรถไทเกอร์ได้ปรับลดลงมาค่อนข้างเยอะ เหลือประมาณ 1,500 คัน/เดือน แต่ถึงแม้ว่าภาพของเราจะเป็นการรับจ้างผลิตแต่ก็ไม่ได้หมาย ความว่าแบรนด์ไทเกอร์จะหายไป" นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายมาเป็นผู้รับจ้างประกอบรถจักรยานยนต์ให้แบรนด์ต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี และปัจจุบันมีผู้จ้างให้บริษัทประกอบค่อนข้างมาก ทั้งยังช่วยบริษัทผู้จ้างและผู้รับจ้างกระจายความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุนประกอบกับไทเกอร์และแซคส์จะทำตลาดรถจักรยานยนต์แข่งกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องใช้งบประมาณด้านการตลาดจำนวนมหาศาล

ส่วนกรณีรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ของตำรวจ บริษัทก็ยังให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งทีมเข้าไปให้บริการตามสถานีตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 8,000 คัน เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา และมีแผนออกให้บริการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ลอตดังกล่าว จะหมดสัญญาการันตีกับทางบริษัท คือระยะเวลา 3 ปี หรือระยะทาง30,000 กิโลเมตรไปแล้วก็ตาม "การซ่อมบางครั้ง หากต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย เป็นของธรรมดา" นายปิติกล่าว