ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > บิ๊กไบก์ดิ้นหนีพิษเงินเยนแข็งค่า ซูซูกิ-ยามาฮ่า-ฮอนด้าต้นทุนพุ่ง
บิ๊กไบก์ดิ้นหนีพิษเงินเยนแข็งค่า ซูซูกิ-ยามาฮ่า-ฮอนด้าต้นทุนพุ่ง
ที่มา - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15-18 ก.ย.54

บิ๊กไบก์บุกไทย "ซูซูกิ" เผยบริษัทแม่เล็งย้ายฐานการผลิตมอเตอร์ไซค์ 250 ซีซี หลังญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเงินเยนแข็งค่า ด้าน "ยามาฮ่า" โว ปีหน้ารู้ผลระบุไทยศักยภาพไม่เป็นรองใคร ส่วนเอ.พี. ฮอนด้าปัดฝุ่นโชว์รูมบิ๊กไบก์วิงหลังชะลอยาว ลั่นปีหน้าเดินเครื่องเต็มสูบ บริษัทแม่เล็งใช้ไทยเป็นฐานผลิต

นายมาซาโนบุ ไซโต้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้เริ่มพิจารณาและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ "บิ๊กไบก์" ที่มีเครื่องยนต์ขนาด250 ซีซี ออกนอกประเทศเพื่อต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า สำหรับประเทศที่เล็งไว้ทั้งจีน, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย รวมถึงไทย ซึ่งทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีศักยภาพที่จะใช้เป็นฐานการผลิต และมีโอกาสพอ ๆ กัน

สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ขนาด250 ซีซีนั้น ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างยิ่งและมีศักยภาพ ในส่วนของประเทศไทยที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของบริษัทมีโอกาสที่จะสามารถทำราคาจำหน่ายได้ต่ำกว่า 200,000 บาท ซึ่งจะถูกกว่าบิ๊กไบก์ที่ขายในปัจจุบัน 8-9 แสนบาท

"ปีหนึ่งเรามีการนำเข้ามาจำหน่ายเฉลี่ยประมาณ 20 คัน คือ รุ่นฮายาบูซะและจีเอสเอ็กซ์อาร์ 1000 ซึ่งถือเป็นรถรุ่นท็อป โดยมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากภาษีการนำเข้าที่จัดเก็บในอัตราค่อนข้างสูงนั่นเอง ถ้าผลิตในนี้ได้ก็จะช่วยเสริมขยายตลาดได้ง่ายขึ้น"

แต่ทั้งนี้บริษัทคงจะต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของรถจักรยานยนต์ทันที

นายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะใช้ประเทศใดในอาเซียนเพื่อใช้เป็นฐานผลิต นอกเหนือจากที่ผลิตอยู่ในญี่ปุ่นและยุโรป โดยโอกาสของประเทศไทยและอินโดนีเซียมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงคาดว่าภายในปีหน้าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ด้านสุชาติ อรุณแสงโรจน์ กรรมการบริหาร และผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า ประเทศไทยจำกัด ยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมความพร้อมเปิดตลาดรถ"บิ๊กไบก์" คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มจริงจังหลังจากแผนการดำเนินงานได้ชะลอมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี 2552 ภายใต้ศูนย์ "ฮอนด้า บิ๊ก วิง"ที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 3 ไร่ ในบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม

โดยมีการลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการ ย่านเลียบทางด่วนเอกมัยรามอินทรา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านเพื่อรองรับตลาดตรงนี้

ส่วนโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบก์นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง หลังจากช่วงปีก่อนบริษัทลงทุนเพื่อขึ้นไลน์ผลิตและประกอบรถจักรยานยนต์ขนาด 250 ซีซี อย่างรุ่น "ซีบีอาร์"สำหรับตลาดในประเทศและส่งออก

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดรถจักรยานยนต์นำเข้าขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบก์นั้น ความต้องการของประเทศไทยอยู่ที่ปีละประมาณ 2,000 คัน ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยเจ้าของแบรนด์และกลุ่มผู้นำเข้าอิสระ ซึ่งฮอนด้ามั่นใจว่าหลังจากทำตลาดจริงจัง น่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดรถกลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้น