ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > เหตุคนซ้อนจยย.เมินสวมกันน็อก : กลัวผมเสียทรง-หมวกไม่สะอาด
เหตุคนซ้อนจยย.เมินสวมกันน็อก : กลัวผมเสียทรง-หมวกไม่สะอาด
ที่มา - ASTV ผู้จัดการรายวัน วันที่ 7 ก.พ.54

ดร.พรรณสิริกุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากการติดตามประเมินผลการใช้หมวกกันน็อกในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2554 พบว่าได้ผลดีในกลุ่มผู้ขับขี่ ส่วนผู้ซ้อนท้ายยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยในกลุ่มรถจักรยานยนต์ทั่วไป ผู้ขับขี่มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นจากก่อนรณรงค์ร้อยละ 86 เป็นร้อยละ94 ผู้ซ้อนท้ายใช้เพิ่มจากร้อยละ12 เป็นร้อยละ 48 ส่วนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างอัตราการใช้ในผู้ขับขี่ เพิ่มจากร้อยละ 94 เป็นร้อยละ 99.7 ผู้ซ้อนท้ายสวมเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 43 เมื่อสอบถามผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เหตุผลที่ไม่สวมหมวกกันน็อกว่า กลัวผมเสียทรง กลัวหมวกไม่สะอาดมากกว่ากลัวการได้รับบาดเจ็บทางสมอง

ดร.พรรณสิรกล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่อให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใช้หมวกกันน็อกให้ได้ 100% ตามเป้าหมายสธ.ได้ออกมาตรการเข้มงวด3 มาตรการต่อเนื่องคือ

1. ไม่อนุญาตให้ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ผ่านเข้าออกพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเด็ดขาด หากต้องการผ่าน ให้ผู้โดยสารลงเดินส่วนผู้ขับขี่ให้ดับเครื่องและเดินจูงรถจักรยานยนต์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 ก.พ. 2554 เป็นต้นไป

2. ประสานขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจเมืองนนทบุรี เข้ามาตรวจเตือนเป็นระยะๆ เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ถึงวันที่ 1 มี.ค. 2554 หลังจากนั้นจะดำเนินการสุ่มตรวจจับและปรับตามกฎหมาย โดยผู้ขับขี่จะมีโทษปรับ 500 บาทส่วนผู้ซ้อนท้ายถ้าไม่สวม ผู้ขับขี่จะถูกเป็นปรับ 2 เท่า คือ 1,000 บาท และถ้าเป็นข้าราชการ สธ.ฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีบทลงโทษทางวินัยตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย

3. สธ.ได้สนับสนุนหมวกรองในเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ซ้อนท้ายที่ต้องใช้หมวกกันน็อกร่วมกับผู้อื่นจำนวน 15,000 ชิ้น เนื่องจากผลสำรวจพบว่า ผู้โดยสารบางรายรังเกียจการใช้หมวกกันน็อกร่วมกับผู้อื่น หมวกชนิดนี้ใช้ซ้ำได้ และได้ให้กรมควบคุมโรคออกคำแนะนำการดูแลความสะอาดหมวกกันน็อกแก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทุกคนที่ผ่านเข้าออกสธ. และจะเผยแพร่คำแนะนำดังกล่าวแก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศด้วย