ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 10 ข้ออ้างไม่ใส่หมวกกันน็อก
10 ข้ออ้างไม่ใส่หมวกกันน็อก
ที่มา - นสพ.บ้านเมือง วันที่ 5 มิ.ย.54

หมวกกันน็อกนอกจากจะมีไว้เพื่อป้องกันอันตรายบริเวณศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยบังแดดบังลมให้กับผู้ขับและคนซ้อนระหว่างขับขี่ได้อีกด้วย แต่หลายคนมองเป็นเรื่องไม่สำคัญและไม่ยอมใส่จนต้องมาเสียใจภายหลัง

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านการป้องกันอุบัติเหตุแห่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผลวิจัยมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน คนไทยมีความเชื่อและความเห็น 10 อย่างที่ไม่ถูกต้องในการไม่สวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ "ไปแค่ใกล้ๆ ไม่ต้องใส่" สูงสุด 64% ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่มูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (สอจร. ศวปถ. สสส.) ได้สัมภาษณ์ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก จำนวน 77,334 คน จาก 73 จังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2553 ปรากฏผลสัมภาษณ์เหตุผลการไม่สวมหมวกกันน็อก 10 ประการ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ดังนี้ 64% ตอบว่า ขับมอเตอร์ไซค์ไปใกล้ๆ ไม่ต้องสวมหมวกกันน็อก 37% ตอบว่า ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ ไม่ต้องใส่ก็ได้ 29% ตอบว่า เร่งรีบ ใส่ไม่ทัน 21% ตอบว่า ร้อนอึดอัด สวมใส่แล้วไม่สบาย สกปรก 13% ตอบว่า กลัวผมเสียทรง 10% ตอบว่า ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย 8% ตอบว่า บริเวณที่จะไปไม่มีตำรวจ 7% ตอบว่า ไม่มีหมวกกันน็อกใช้ 6% ตอบว่า คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย 4% ตอบว่า บุคคลที่นั่งมาด้วยก็ไม่ได้สวม

ทั้งนี้ น.พ.วิทยา กล่าวว่า ข้อมูลจริงที่ปรากฏในแทบจะทุกโรงพยาบาลจะเป็นสิ่งที่หักล้างความเชื่อจาก คำตอบของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น พบว่า ระยะทางห่างจากบ้านถึงจุดที่เกิดเหตุ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ 36.4% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเกิดเหตุในรัศมี 1 กม. จากบ้านหรือที่พัก 22.7% เกิดเหตุห่างจากที่พักระหว่าง 1-2 กม. 14.5% เกิดเหตุห่างจากที่พัก 2-5 กม. และ 26.4% เกิดเหตุห่างจากที่พักมากกว่า 5 กม. บ่อยครั้งมากที่คนไข้เสียชีวิตเพราะขับรถจักรยานยนต์ ชนสุนัข หรือทับก้อนหินเสียหลัก หรือขับรถตกหลุม ขณะออกจากบ้านไปธุระหน้าปากซอย ห่างจากบ้านไม่ถึง 100 เมตร จากข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เกิดอยู่ใกล้ๆ บ้านนั่นเอง

"ส่วนความเชื่อที่ว่าไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใส่ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในปี 2553 วันที่ 12-15 เมษายน ชี้ชัดว่าอุบัติเหตุมากถึง 2 ใน 3 เกิดบนถนนสายรอง เช่น ถนนในเขตหมู่บ้าน ในเมือง ในเขตเทศบาล และทางหลวงชนบท มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เหตุเกิดบนถนนสายหลัก หรือถนนใหญ่ และถ้าบอกว่ารีบจนใส่หมวกไม่ทัน ผมก็จะบอกว่า ถ้าจะคว้าหมวกมาใส่ก็ต้องใส่ทัน มีใครที่รีบมากจนไม่ใส่กางเกงออกจากบ้านบ้าง ทั้งที่ใส่กางเกงต้องใช้เวลานานกว่าใส่หมวกกันน็อกเสียอีก" คุณหมอ กล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ต้องรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ มีจำนวนมากถึงปีละกว่า 300,000 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ว่าผู้ป่วยเหล่านี้แทบทั้งหมดไม่นึกว่าอุบัติเหตุจะเกิดกับตัว จึงขับขี่ด้วยความประมาท ไม่ใส่หมวกกันน็อก และเมาแล้วขับ ส่วนคนที่ยังอ้างว่าไม่มีหมวกเพราะราคาแพงนั้น ทางบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตหมวกกันน็อก สนับสนุนการผลิตเพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซื้อหมวกกันน็อกชนิดครึ่งศีรษะที่ได้มาตรฐานในราคาถูก เพียง 99 บาทเท่านั้น