ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > แพล็ททินั่มมอเตอร์ไซค์สายพันธุ์จีน ทุ่ม 2 พันล้านผุดโรงงานในไทย
แพล็ททินั่มมอเตอร์ไซค์สายพันธุ์จีน ทุ่ม 2 พันล้านผุดโรงงานในไทย
ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ส.ค.- 1 ก.ย.48

สินค้าราคาถูกจากจีนปูพรมในตลาดโลกหลังแผ่นดินมังกรเปิดประเทศ ไม่เว้นไทย ผู้ประกอบการสมองไวตั้งโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์สั่งตรงจากเมืองฉงชิ่ง ติดแบรนด์ "แพล็ททินั่ม" ชูจุดขายราคาประหยัดในยุคน้ำมันแพง เชื่อมั่นแค่ปีแรกทำยอดเกินแสนคัน

ถ้าพูดถึงรถจักรยานยนต์ ญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียวที่ยึดครองตลาดบ้านเรามานานหลายสิบปี แต่ด้วยบรรยากาศทางการค้า ที่เปิดเสรีเพิ่มขึ้น ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงปีที่ผ่านมา กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการเปิดตัวมอเตอร์ไซค์แบรนด์น้องใหม่ "แพล็ททินั่ม" ซึ่งนำเข้าชิ้นส่วน และอะไหล่จากประเทศจีน

ธนศักดิ์ ฤกษ์สุรณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แพล็ททินั่มมอเตอร์เซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจาก บริษัทได้ลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ซึ่งนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 30 ไร่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 เพื่อผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อแพล็ททินั่ม และเปิดตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ทำการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศได้ครบ 76 จังหวัดแล้ว มียอดขายจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ประมาณ 20,000 คัน

ล่าสุด บริษัทกำลังสร้างโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์แห่งใหม่ บนพื้นที่ 60 ไร่ ใน อ.มะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 คาดว่าจะเดินเครื่องการผลิตได้ในราวต้นปีหน้า โดยโรงงานแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังการผลิตประมาณ 45,000 คันต่อเดือน จากโรงงานแห่งเดิมที่มีกำลังการผลิต 12,000 คันต่อเดือน และต่อไปจะเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อแพล็ททินั่มส่งขายในประเทศร้อยละ 60 และต่างประเทศในแถบอาเซียนร้อยละ 40 โดยทั้ง 2 โรงงานใช้เงินลงทุนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

"เอฟทีเอไทย-จีน เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการลงทุนในครั้งนี้ และบริษัทของเราเป็นรายแรกของประเทศไทย ที่ผลิตรถจักรยานยนต์สายพันธุ์จีนอย่างเต็มรูปแบบ โดยสั่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางส่วนมาจากกลุ่มฮั่งซิ่ม จากเมืองฉงชิ่ง ของจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของจีน มีออเดอร์ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป จึงทำให้รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อแพล็ททินั่มมีราคาต่ำกว่าสินค้าในท้องตลาด และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับลูกค้า จากเดิมที่มีการผูกขาดสินค้าจากค่ายญี่ปุ่นเป็นหลัก" ธนศักดิ์ กล่าว

เจาะตลาดล่างยุคประหยัด
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทแพล็ททินั่มฯ กล่าวต่อไปว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการขายสินค้าในปีนี้ทั้งสิ้น 100,000 คัน คาดว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสินค้าได้รับการตอบสนองจากตลาดดีมาก จากที่มีทั้งหมด 28 รุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า กำลัง 350 วัตต์ โดยที่บริษัทเป็นรายแรกที่ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาจำหน่าย และจดทะเบียนได้ถูกต้องตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ขณะที่สินค้ารุ่น MONACO ซึ่งเป็นรถช้อปเปอร์ 150cc. ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะเป็นรถขนาดใหญ่แต่ราคาเริ่มต้น 40,000-70,000 บาท เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ จะถือว่าราคาต่ำกว่ามาก

ในปี 2549 การผลิตรถจักรยนต์ของโรงงานแห่งใหม่จะดำเนินการได้เต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้ายอดขายในปี 2549 ไว้ประมาณ 400,000 คัน ซึ่งยังไม่รวมกับรถรุ่น town ที่ผลิตขายให้กับคุรุสภาอีกจำนวน 100,000 คัน ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจว่าน่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เพราะการเข้ามาทำตลาดของบริษัทครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการรถจักรยานยนต์ของไทย ที่มีสินค้าเจาะตลาดแทบทุกกลุ่ม และราคาสมเหตุสมผล ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า

"แม้ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อใหม่สายพันธุ์จากจีน ในแง่การตลาดลูกค้าอาจจะไม่ค่อยมั่นใจ แต่วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดขึ้นกลับส่งผลดีต่อการเปิดตลาดของรถแพล็ททินั่ม เพราะรูปลักษณ์ของสินค้าที่มีหลากหลาย ราคาที่ไม่แพงเริ่มต้นที่คันละ 20,000 บาท" นายธนศักดิ์ กล่าว

เชื่อมั่นลดผูกขาดค่ายรถญี่ปุ่น
ด้าน นายสุพจน์ พลบุตร ผู้จัดการ บริษัท แพล็ททินั่มรุ่งเรือง จำกัด ตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน กล่าวว่า บริษัทใช้งบประมาณในการลงทุน 10 ล้านบาท ในการสร้างโชว์รูมทั้ง 4 แห่ง คือ สาขา อ.เมืองเชียงใหม่, อ.ฝาง, อ.จอมทอง และ อ.เมืองลำพูน คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2548 พร้อมกันนี้ได้ทำการแต่งตั้งซับดีลเลอร์ครบทุกอำเภอของทั้ง 2 จังหวัดแล้ว โดยตั้งเป้าหมายยอดขายช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ประมาณ 500 คัน

แม้ว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของ 2 จังหวัด จะมีการแข่งขันรุนแรง และมีการผูกขาดของค่ายญี่ปุ่นไว้ก่อน แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรค เพราะบริษัทเน้นนำสินค้าทั้ง 28 รุ่นเข้าเจาะตลาดทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความได้เปรียบมากกว่า อีกทั้งราคาที่ถูกกว่าน่าจะเป็นแรงจูงใจลูกค้าได้ โดยช่วงแรกจะเน้นทำตลาดรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 350 วัตต์ ในกลุ่มวัยุร่น และกลุ่มแม่บ้าน ในราคาเริ่มต้นประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป และรถช้อปเปอร์ รุ่น MONACO ในราคา 40,000 บาทขึ้นไป และยังได้เสริมบริการให้กับลูกค้า ด้วยการลงทุนเปิดไฟแนนซ์ เบื้องต้นได้จัดสรรวงเงินไว้ 30 ล้านบาทด้วย

แม้จะเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตลาดในประเทศไทย แต่สุพจน์เชื่อมั่นว่าภายในไม่เกิน 2 ปี พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าจะเปลี่ยนไป เพราะสินค้าจากจีนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะที่คุณภาพสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างจากค่ายญี่ปุ่น และจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการตัดสินใจซื้อสินค้า