ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > เอแบคโพลล์: ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง
เอแบคโพลล์ : ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง
ที่มา - ABAC Poll วันที่ 4 ต.ค.48

ที่มาของการสำรวจ
ปัญหาวัยรุ่นรวมกลุ่มกันแข่งรถจักรยานยนต์บนถนนสาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า “มอเตอร์ไซค์ซิ่ง” เป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อน สร้างความรำคาญ ให้กับสังคมเมืองมาเป็นเวลานาน ซึ่งนับเป็นการดีที่กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ แต่แนวทางที่นำมาแก้ปัญหาในเบื้องต้นคือการจัดหาสนามแข่งให้กลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่ง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หวังว่าจะเป็นการดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาแข่งในสนามให้ถูกที่ถูกทาง แต่แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือแก้ปัญหาถูกทางหรือไม่ มากไปกว่านั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหากันแน่

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ทำการสำรวจภาคสนามหาข้อมูลเชิงสถิติสาสตร์ จากประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ด้วยการจัดส่งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพนักงานเก็บรวบรวมข้อมูลลงพื้นที่ตัวอย่างที่ถูกสุ่มได้ตามหลักวิชาการด้านระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่มีต่อการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง
2. เพื่อสำรวจปัญหาสังคมที่ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องการให้มีการแก้ไขจัดการ
3. คาดว่าข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากยิ่งขึ้น

ระเบียบวิธีวิจัย
โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้ เรื่อง “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไป และตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ซึ่งดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2548

+ ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้ คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
+ กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 15- 65 ปี ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
+ เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิ (Stratified Cluster Sampling) ในการสุ่มเลือกพื้นที่ตัวอย่าง และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงในการเข้าถึงตัวอย่างที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร
+ ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ ประชาชนทั่วไป จำนวน 1,422 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จำนวน 199 ตัวอย่าง
+ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม
+ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การสัมภาษณ์
หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ ข้อมูลงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง กรณีประชาชนทั่วไป พบว่า
เพศ ตัวอย่างร้อยละ 50.0 เป็นหญิง และร้อยละ 50.0 เป็นชาย
อายุ ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 27.1 มีอายุอยู่ในช่วง 15-25 ปี รองลงมาร้อยละ 24.5 มีอายุอยู่ในช่วง 36-45 ปี และร้อยละ 24.0 มีอายุอยู่ในช่วง 26-35 ปี ตามลำดับ
การศึกษา ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า รองลงมา คือ ร้อยละ 24.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และ ร้อยละ 14.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ตามลำดับ
อาชีพ ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 31.0 ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย/อาชีพอิสระ รองลงมาร้อยละ 30.4 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และ ร้อยละ 12.5 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตามลำดับ

กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร พบว่า
เพศ ตัวอย่างร้อยละ 94.4 เป็นชาย และร้อยละ 5.6 เป็นหญิง
อายุ ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44.2 มีอายุอยู่ในช่วง 36-45 ปี รองลงมา คือ ร้อยละ 35.5 มีอายุอยู่ในช่วง 26-35 ปี และร้อยละ 15.2 มีอายุอยู่ในช่วง 46-55 ปี ตามลำดับ
การศึกษา ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 55.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาร้อยละ 26.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และ ร้อยละ 10.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ตามลำดับ

บทสรุปผลการสำรวจ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลการสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์ซิ่ง” ในครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,621 ตัวอย่าง ซึ่งได้ดำเนินการในระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2548 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจ ดังนี้

คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึง การขับขี่มอเตอร์ไซค์ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.2 ระบุขับขี่ และตัวอย่างร้อยละ 46.8 ระบุไม่ได้ขับขี่ ผลสำรวจ การเคยมีประสบการณ์ขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ตัวอย่างร้อยละ 70.5 ระบุไม่เคย และตัวอย่างร้อยละ 29.5 ระบุเคย เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ การสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนของกลุ่มขับรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 90.2 ระบุสร้างความเดือดร้อน ตัวอย่างร้อยละ 5.1 ระบุไม่สร้างความเดือดร้อน และตัวอย่างร้อยละ 4.7 ไม่ระบุความเห็น

จากการสำรวจ การทราบข่าวเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหากลุ่มขับรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 90.0 ระบุทราบข่าว และร้อยละ 10.0 ระบุไม่ทราบข่าว เมื่อถามถึง ข้อดีของแนวทางแก้ปัญหากลุ่มขับรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง โดยการจัดสนามให้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.8 ระบุไม่มีข้อดี และตัวอย่างร้อยละ 49.2 ระบุมีข้อดี เฉพาะผู้ที่ตอบว่ามีข้อดีให้เหตุผลว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.9 ระบุไม่รบกวนประชาชน รองลงมาร้อยละ 36.7 ระบุมีสนามเป็นที่เป็นทาง และร้อยละ 21.0 ระบุมีความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ตามลำดับ เมื่อถามถึง ข้อเสียของแนวทางแก้ปัญหากลุ่มขับรถมอเตอร์ไซค์ซิ่งโดยการจัดสนามให้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 59.0 ระบุว่ามีข้อเสีย และตัวอย่างร้อยละ 41.0 ระบุไม่มีข้อเสีย เฉพาะผู้ที่ตอบว่ามีข้อเสียให้เหตุผลว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.5 ระบุเป็นการส่งเสริมเยาวชนในทางที่ผิด ทำให้เยาวชนหลงผิด รองลงมา คือ ร้อยละ 24.9 ระบุเสียงบประมาณ สิ้นเปลืองน้ำมัน และค่าใช้จ่ายต่างๆ และร้อยละ 22.5 ระบุเป็นอันตราย อาจเกิดอุบัติเหตุ ตามลำดับ และเมื่อสอบถามย้ำอีกครั้งเพื่อให้ เปรียบเทียบข้อดีกับข้อเสียของการแก้ปัญหากลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่งโดยการจัดสนามให้ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.6 ระบุข้อเสียมากกว่า รองลงมา คือ ร้อยละ 28.2 ระบุมีข้อดีและข้อเสียพอๆ กัน และร้อยละ 22.9 ระบุข้อดีมากกว่า ตามลำดับ

จากการสำรวจความคิดเห็นต่อ การที่นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ออกมาจัดสนามแข่งรถ จะทำให้เยาวชนมีพฤติกรรมชอบแข่งรถบนถนนสาธารณะเพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.7 ระบุเพิ่มขึ้น รองลงมาร้อยละ 25.1 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 20.8 ระบุลดลง ตามลำดับ เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อ การจับกุมกลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ของตำรวจจราจรในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.2 ระบุตำรวจกระทำการไปตามกฎหมายอย่างเหมาะสม รองลงมา คือ ร้อยละ 35.2 ระบุแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่คงเส้นคงวา และร้อยละ 24.6 ระบุตำรวจปล่อยปละละเลยเกินไป ตามลำดับ

จากการสำรวจความคิดเห็นต่อ ความสามารถในการช่วยแก้ปัญหาเยาวชนรวมกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์บนถนนสาธารณะ โดยการจัดสนามให้ พบว่า ในภาพรวมตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 63.0 ระบุแก้ไขไม่ได้ รองลงมา คือ ร้อยละ 29.2 ระบุแก้ไขได้ ซึ่งตัวอย่างร้อยละ 7.8 ไม่ระบุความเห็น เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามวัย พบว่า กลุ่มวัยรุ่น (อายุไม่เกิน 25 ปี) ตัวอย่างร้อยละ 53.9 ระบุแก้ไขไม่ได้ ร้อยละ 36.5 ระบุแก้ไขได้ และร้อยละ 9.6 ไม่ระบุความเห็น ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 26 ปีขึ้นไป) ตัวอย่างร้อยละ 65.9 ระบุแก้ไขไม่ได้ ร้อยละ 26.8 ระบุแก้ไขได้ และร้อยละ 7.3 ไม่ระบุความเห็น แต่เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นประชาชนทั่วไปกับตำรวจจราจร พบว่า ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 59.8 ระบุแก้ไขไม่ได้ ร้อยละ 32.0 ระบุแก้ไขได้ โดยร้อยละ 8.2 ไม่ระบุความเห็น ส่วนตำรวจจราจร ร้อยละ 85.4 ระบุแก้ไขไม่ได้ ร้อยละ 9.0 ระบุแก้ไขได้ โดยร้อยละ 5.6 ไม่ระบุความเห็น

เมื่อสอบถามว่า แนวทางแก้ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ซิ่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสี่ยงต่อการทำให้เยาวชนกระทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า ในภาพรวมตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 ระบุเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ ร้อยละ 22.2 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 21.3 ระบุลดลง ตามลำดับ เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามวัย พบว่า กลุ่มวัยรุ่น (อายุไม่เกิน 25 ปี) ตัวอย่างร้อยละ 32.6 ระบุลดลง ร้อยละ 30.7 ระบุเพิ่มขึ้น และร้อยละ 28.4 ระบุเท่าเดิม โดยร้อยละ 8.3 ไม่ระบุความเห็น ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 26 ปีขึ้นไป) ตัวอย่างร้อยละ 51.2 ระบุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.2 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.7 ระบุลดลง โดยร้อยละ 10.9 ไม่ระบุความเห็น แต่เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นประชาชนทั่วไปกับตำรวจจราจร พบว่า ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 42.7 ระบุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5 ระบุลดลง ร้อยละ 23.3 ระบุเท่าเดิม โดยร้อยละ 10.5 ไม่ระบุความเห็น ส่วนตำรวจจราจร ร้อยละ 72.1 ระบุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.2 ระบุลดลง ร้อยละ 6.6 ระบุเท่าเดิม โดยร้อยละ 8.1 ไม่
ระบุความเห็น

จากการสำรวจ สิ่งที่รัฐบาลควรกระทำเพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่ง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.2 ระบุใช้กฎหมายบังคับให้เด็ดขาด เพิ่มความเข้มงวด จับกุม ตรวจตรา รองลงมา คือ ร้อยละ 22.7 ระบุจัดสถานที่แข่งขันให้เป็นที่เป็นทาง เปิดให้ลงทะเบียน โดยเช็คประวัติให้ละเอียด และดำเนินการเป็นกิจจะลักษณะอย่างถูกต้อง และร้อยละ 7.4 ระบุจับร้านดัดแปลงรถ เข้มงวดกับร้านแต่งรถ ตามลำดับ และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อ ปัญหาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรแก้ไขจัดการ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 18.3 ระบุเน้นการศึกษา พัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะด้านคุณธรรม จริยธรรม รองลงมาร้อยละ 17.2 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 16.5 ระบุปัญหาวัยรุ่น เยาวชน อาทิ การมั่วสุมทางเพศ การยกพวกตีกัน โดยมีสัดส่วนเท่ากันกับตัวอย่างที่ระบุให้ออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการแข่งมอเตอร์ไซค์ซิ่งให้เข้มงวด/ ไม่ให้มีการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ซิ่ง และร้อยละ 13.9 ระบุพัฒนาสังคม ทำให้สังคมน่าอยู่/พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ตามลำดับ