ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > พาณิชย์ขู่นำค่าโดยสารจยย.รับจ้างเข้าสินค้าควบคุม
พาณิชย์ขู่นำค่าโดยสารจยย.รับจ้างเข้าสินค้าควบคุม
ที่มา - สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 21 ต.ค.48

นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่า อัตราค่ารถโดยสารวินมอเตอร์ไซค์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศออกมาระยะทาง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อ ๆ ไปไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท ระยะทางที่เกินกว่านี้ให้เป็นไปตามที่จะตกลงกัน เห็นว่า เป็นราคาที่สูงเกินไป ซึ่งในส่วนกระทรวงพาณิชย์คงต้องดูว่า แต่ละจังหวัดจะมีการกำหนดราคาค่าโดยสารสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด หากสูงขึ้นมาก ทางกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถที่จะนำอัตราค่าโดยสารรถจักรยานยนต์เข้ามาอยู่ในรายการสินค้าควบคุมตามกฎหมาย ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้อยู่แล้ว

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงกระแสข่าวตามประกาศลงนามในกฎกระทรวง 7 ฉบับ ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ใน พ.ร.บ.รถยนต์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ จะเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่ขับรถโดยสารสาธารณะประเภทมอเตอร์ไซค์รับจ้างฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าโดยสาร ซึ่งตามกฎกระทรวงประกาศใช้ได้กำหนดเป็นอัตราขั้นสูงไว้ว่า ระยะทาง 2 กม.แรกไม่เกิน 25 บาท และ กม.ต่อไปไม่เกิน กม.ละ 5 บาท ระยะทางเกิน 5 กม.ขึ้นไปให้เป็นไปตามที่ตกลงกัน

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกขอชี้แจงว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าวตามกฎกระทรวงที่ประกาศไปนั้น ถือเป็นการกำหนดเพดานขั้นสูงสุดไว้ ไม่ใช่เป็นการเปิดช่อง หรือเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างไปปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะตามประกาศที่ระบุไว้ระยะทาง 2 กม.แรกไม่เกิน 25 บาท และ กม.ต่อไปไม่เกิน กม.ละ 5 บาท อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และการฉวยโอกาสปรับราคาค่าโดยสารที่อาจจะมีระยะทางสั้นและระยะทางยาวที่มีการจัดเก็บอยู่แล้วเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยในส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารจริงของแต่ละสถานที่ โดยเฉพาะตามวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่างๆ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการประจำท้องที่ที่จะกำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว รวมทั้งจะกำหนดให้มีการแสดงค่าจ้างบรรทุกโดยสาร ณ สถานที่รับผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ประสานไปยังแต่ละจังหวัด และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจแล้ว

ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติในการกำหนดราคาค่าโดยสารเมื่อมีการประกาศออกมา ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าให้มีการปรับหรือกำหนดราคา แต่การกำหนดราคาอัตรามอเตอร์ไซค์รับจ้างดังกล่าวที่กำหนดระยะทางในช่วง 2 กม.แรก 25 บาท และ กม.ต่อไปไม่เกิน 5 บาท ซึ่งจะเข้าใจว่าจะเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดอัตราสูง ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเพดานดังกล่าวเป็นเพดานสูงสุดตามกฎหมาย ราคาตามความเป็นจริงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแต่ละจังหวัด ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ จะขึ้นอยู่กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัดขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดตามความเหมาะสม แต่เชื่อว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะกำหนดให้ใช้ในอัตราที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน เพราะการจัดระเบียบดังกล่าวเจ้าของรถไม่มีค่าใช้จ่ายมากเหมือนในอดีต มีแต่อัตราค่าธรรมเนียมของส่วนราชการเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะไปโก่งราคาหรืออ้างเหตุตามกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้ นายปิยะพันธ์ กล่าว

สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หากพบเห็นการขึ้นค่าโดยสารก่อนที่คณะกรรมการแต่ละจังหวัด จะกำหนดจะมีโทษทางกฎหมาย โดยมีโทษปรับ 5,000 บาท และขอเตือนอย่าฉวยโอกาส โดยผู้พบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวสามารถร้องเรียนมาที่ 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถยนต์สาธารณะ กรมการขนส่งทางบก ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่วประเทศมีอยู่ 280,000 คัน แยกเป็น กทม. 110,000 คัน ต่างจังหวัด 170,000 คัน โดยขอแจ้งให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างไปขอรับใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะได้ที่กรมการขนส่งทางบก

สำหรับการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้เจ้าของยื่นขอหนังสือรับรองการใช้รถยนต์สาธารณะได้ในเขตสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ที่ว่าการอำเภอ หรือสถานีตำรวจภูธร เพื่อนำมาประกอบยื่นขอจดทะเบียนที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกที่เจ้าของรถยนต์มีภูมิลำเนา หรือที่ตั้งวินมอเตอร์ไซค์ โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มีนาคม 2549 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวอาจถูกจับและดำเนินคดี