ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > ภารกิจปลุกชีพเจอาร์ดีในไทย
ภารกิจปลุกชีพเจอาร์ดีในไทย
ที่มา – โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 ก.ย.49

หลังจากเข้ามาเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ในปี 2545 ด้วยการขนเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เข้ามาเปิดโรงงานบนพื้นที่ 250 ไร่ของจังหวัดสงขลา ก่อตั้งเป็น บริษัท เจอาร์ดี ไบรท์ มอเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถสกูตเตอร์ เจอาร์ดีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ในวันเปิดตัว เจอาร์ดีได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมากพอสมควร กับการเป็นผู้ผลิตรถสกูตเตอร์ที่สามารถจดทะเบียนในประเทศไทยได้เป็นรายแรก พร้อมกับการนำสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา อาทิ ระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ด้วยรีโมต ซึ่งเมื่อรวมกับที่ตั้งโชว์รูมใหญ่ที่ยึดพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างอาร์ซีเอเข้าไปด้วยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนให้ความสนใจมากพอสมควร

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจอาร์ดีกลับเงียบหายไปเฉยๆ โดยที่มีการคาดการณ์ถึงสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการสู้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่อยู่มาก่อนไม่ได้ สินค้ายังไม่ได้คุณภาพมากพอ หรือแม้แต่การที่ตลาดประเทศไทยยังไม่ให้การตอบรับกับสกูตเตอร์สักเท่าไร แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ทำให้เจอาร์ดี ถูกลดบทบาทจากการเป็นผู้ท้าชิงในตลาดสองล้อเครื่องลงไปเป็นเพียงผู้ประกอบการรายย่อยหนึ่งรายในตลาด เท่านั้น

นอกจากบทบาทของบริษัทจะลดลงไปแล้ว อีกสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก็คือ ผู้บริหารที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป จนกระทั่งคนล่าสุดที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลในเรื่องของการบริหารงานของเจอาร์ดี ทั้งหมดในตอนนี้ ก็คือ พงษ์ศักดิ์ พรรณราย ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สกู๊ตเตอร์ อรีนา โชว์รูมและศูนย์บริการครบวงจรรถจักรยานยนต์เจอาร์ดี ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“หลังจากเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สิ่งแรกที่ทำก็คือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เรามานั่งดูทีละจุดว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง สินค้ามีปัญหา 2 เดือนแรกผมลงไปดูโรงงานเองทั้งหมด ตอนนี้เราได้ไอเอสโอ 9002 : 2001 เป็นสิ่งยืนยันมาตรฐานการผลิต จากนั้นเราก็มาคุยกับดีลเลอร์ว่าเขามีปัญหาอะไร ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำคือ การรีแบรนด์แบรนด์เจอาร์ดีใหม่ ทั้งหมด อะไรที่มีปัญหาในอดีตก็ต้องยอมรับ แล้วก็แก้ไขกันไป ไม่เกิน 1 ปีครึ่งนับจากนี้เราน่าจะพร้อมทำตลาดมากขึ้น”

แม้ชื่อเสียงจะไม่เป็นที่คุ้นคยในแวดวงสองล้อสักเท่าใด แต่ประสบการณ์ในการทำงานของผู้บริหารคนนี้มีอยู่ล้นเปี่ยม เพราะมีประสบการณ์ในด้านการทำโลจิสติกส์ให้กับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ทางภาคใต้มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเขาคนนี้บอกว่าสิ่งที่จะทำให้ เจอาร์ดีกลับสู่ภาวะการขายที่ดีได้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ให้เร็วที่สุด

พงษ์ศักดิ์เล่าให้ฟังว่า ณ วันที่กลับเข้ามานั่งดูแลเรื่องการตลาดทั้งหมด เขาพบว่ามีทางออกที่เป็นไปได้ 2 ทางสำหรับเจอาร์ดีในวันนั้น ทางออกแรกคือการเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่น ซึ่งเป็นทางเลือก ที่ตัดสินใจไม่ทำ เพราะไม่อยากจะเป็นบริษัทที่ล้มเหลวแล้วก็ปิดบริษัท มาตั้งใหม่

“สิ่งที่เราตัดสินใจในวันนั้นก็คือ เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่ดีจริง สินค้าเรามีปัญหาในเรื่องของซัพพลายเออร์จากต่างประเทศจริง สเปกอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เราก็ตัดสินใจมาแก้ไขกันใหม่หมด จากนั้นเรา ก็เลือกทางเลือกที่ 2 ก็คือเราจำเป็นที่จะต้องมีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาด มีการเสนออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ในประเทศไทย ตกลงเจอาร์ดีก็เลยกลายเป็นเลดี้ สกูตเตอร์ โดยมีรถรุ่นจุ๊บ จุ๊บ เป็นสินค้าใหม่รุ่นแรก”

เขายังบอกอีกว่า นอกจากการลงไปจัดการในเรื่องของโรงงานจนเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมที่จะทำการผลิตสินค้า ที่มีคุณภาพแล้วนั้น ปัญหาหลักในเรื่องของภาพลักษณ์สินค้าก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องมานั่งคิดว่า จะสร้างแบรนด์เจอาร์ดีไปในทิศทางใด แต่เมื่อนำสถิติของลูกค้ามานั่งดูและพบว่ากว่า 80% ของลูกค้าเจอาร์ดีเป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิง ก็ไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะผลักดัน เจอาร์ดีสู่การเป็นเลดี้ สกูตเตอร์ ซึ่งแม้ว่าอาจจะทำให้เสียกลุ่มลูกค้าผู้ชายไปได้ในอนาคต แต่พงษ์ศักดิ์บอกว่าคุ้มหากสามารถจับกลุ่มลูกค้าหลักไว้ได้ดี

นอกจากการรีแบรนด์แล้ว การเปิดตัวรถสกูตเตอร์จุ๊บ จุ๊บ และการคัดเลือกนักร้องสาวยอดนิยมอย่างโฟร์-มด มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ล้วนแล้วแต่ช่วยเสริมภาพการเป็นรถสำหรับผู้หญิงมากขึ้นไปอีก ซึ่งเขาบอกว่าการทำโฆษณาครั้งนี้ น่าจะเป็นโฆษณาครั้งแรกของเจอาร์ดีในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

สำหรับปัญหาถัดไปที่ต้องมานั่งคิดก็คือ เรื่องการทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ 120 รายทั่วประเทศ ซึ่งดีลเลอร์แต่ละรายเองก็แบกปัญหาในการทำธุรกิจไว้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสต็อกสินค้าเก่าที่มีเหลืออยู่พอสมควร แต่ก็ได้แก้ไขด้วยการที่บริษัทรับซื้อคืนสต็อกรถเก่าทั้งหมด รวมถึงการเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบของร้านให้เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงได้มากขึ้น ซึ่งก็ใช้งบประมาณในเรื่องนี้ไปไม่น้อยในช่วงแรก

"เราตัดสินใจซื้อสต็อกเก่าคืนจากดีลเลอร์ทั้งหมด จากนั้นก็ขอความร่วมมือในเรื่องการตกแต่งร้านใหม่ให้ชัดเจน เอาสินค้าใหม่ไปลงเพื่อดึงให้ลูกค้ากลับเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ดีลเลอร์ของเราทั้งหมดยังอยู่กับเจอาร์ดี อยากให้มองว่าในการกลับมาครั้งนี้ เราอยากมองอะไรให้เป็นพื้นฐานมากขึ้น อย่างเรื่องกลุ่มลูกค้าก็ชัดเจน โรงงานก็ต้องเข้าไปจัดการ ดีลเลอร์ทั้งหมดก็เริ่มพร้อมที่จะทำตลาด แต่ทั้งหมดนี้คงต้องใช้เวลา ซึ่งในช่วงแรกคงมุ่งหวังในเรื่องยอดจำหน่ายมากไม่ได้ แต่จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับดีลเลอร์และลูกค้าให้มากที่สุดไปก่อน"

สำหรับจำนวนดีลเลอร์ที่มีอยู่ 120 รายนั้น พงษ์ศักดิ์บอกว่าจะมีการขยายเพิ่มเติมไปในพื้นที่ที่ยังต้องการอยู่แน่นอน โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 200 รายในปีนี้ ขณะที่การปรับรูปแบบก็จะพยายามผลักดันให้มีการปรับรูปแบบเป็นสกูตเตอร์ อรีนา ซึ่งเป็นโชว์รูมต้นแบบและศูนย์บริการครบวงจรให้มากที่สุด รวมถึงแผนงานที่จะผลักดันสกูตเตอร์ อรีนากลายเป็นศูนย์สต๊อกอะไหล่สำหรับดีลเลอร์รายย่อยในภูมิภาคต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยย่นเวลาในการรับอะไหล่จากโรงงานที่สงขลาเพียวอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงยอดจำหน่ายในอนาคต พงษ์ศักดิ์บอกว่าเจอาร์ดีมีกำลังการผลิตในโรงงานอยู่ที่ 5,000 คันต่อเดือน โดยในช่วงที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดยอดจำหน่ายเคยลดลงไปเหลือ 600-700 คันต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งหลังจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็มียอดจำหน่ายในระดับ 1,500 คันต่อเดือน และเชื่อว่าเมื่อมีรถรุ่นใหม่อย่างจุ๊บ จุ๊บเข้ามาก็น่าจะทำได้ถึง 3,000 คันต่อเดือน

"จริงๆ ยอด 3,000 คันต่อเดือนนี่เราอยู่ได้สบายมาก เพราะเราไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ แต่ที่เชื่อว่าเรากำลังมาถูกทางแล้ว จากนี้ไปพอเราแก้ปัญหาได้หมดที่เราตั้งไว้ 1 ปีครึ่ง ยอดขายน่าจะเพิ่มเป็น 5,000 คันต่อเดือน เมื่อถึงเวลานั้น เราคงต้องมาวางแผนกันใหม่จะต้องลงทุนเพิ่มในโรงงานไหม สินค้าไหมจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่จะมีการส่งออกจากประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจอาร์ดีเองก็มีเครือข่ายธุรกิจในหลายประเทศอันนี้เป็นโครงการในอนาคต แต่ตอนนี้เราต้องอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดเสียก่อน"

และนี่คือทางที่เลือกแล้วสำหรับผู้บริหารใหม่ล่าสุดของเจอาร์ดี เลดี้ สกูตเตอร์ในประเทศไทย ที่แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแน่นอนว่าทันทีที่เจอาร์ดีตัดสินใจบุกตลาดทำตัวเป็นบิ๊กเนมอีกรอบ โอกาสที่จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มีเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นยุคสองล้อเกียร์อัตโนมัติครองเมืองด้วยแล้ว น่าจะทำให้การแข่งขันสนตุกขึ้นไปใหญ่

และก็หวังว่าจะเป็นการกลับมาอย่างเต็มตัวของเจอาร์ดีในประเทศไทยเสียที