ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศอิ่มตัวส่งออกไปได้
ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศอิ่มตัวส่งออกไปได้
ที่มา – โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 21 พ.ย.49 (ฝ่ายวิจัยธ.นครหลวงไทย)

การผลิตรถจักรยานยนต์ในอดีตเป็นเพียงการผลิตขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าเท่านั้น ต่อมาเมื่อค่ายรถจักรยานยนต์ชั้นนำของโลกได้ทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งค่ายรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ส่งผลให้การผลิตรถจักรยานยนต์ของไทยได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมดังกล่าวนอกจากจะผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ในปี 2548 เป็นต้นมา ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดภายในประเทศที่เริ่มอิ่มตัว ส่งผลให้การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทำให้ผู้ประกอบการต่างเร่ง ปรับตัวด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็พยายามเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น เพื่อชดเชยความต้องการของตลาดภายในที่ชะลอตัวลง

ผลิตรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค
การผลิตรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 มีปริมาณ 1,466,807 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน 5.39% จากผลกระทบของการปรับตัวลดลงของกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยจำแนกเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัว 1,412,263 คัน และประเภทสปอร์ต 54,544 คัน ลดลง 5.10% และ 12.31% ตามลำดับ ซึ่งสัดส่วนการผลิตรถ จักรยานยนต์ประเภทครอบครัว ต่อรถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ตอยู่ที่ระดับ 96 : 4

เนื่องจากรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวได้รับความนิยม จากผู้บริโภคมาก เพราะเป็นรถอเนกประสงค์ สามารถใช้ได้ ทั้งครอบครัว มีการออกแบบที่ทันสมัย กะทัดรัด และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ณ ช่วงเวลานี้ ส่วนรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตนั้น เป็นรถ จักรยานยนต์ที่มุ่งสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และ ผู้ที่ต้องการความคล่องตัวในการทำงานสูง

ตลาดภายในขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ปัจจุบันการถือครองรถจักรยานยนต์ของคนไทยเริ่มจะอิ่มตัว โดยมีอัตราส่วนการถือครองรถจักรยานยนต์อยู่ที่ระดับ 3 คนต่อ 1 คัน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีอัตราการครอบครองประมาณ 2 คนต่อ 1 คัน แต่จากการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคจากผู้ประกอบการค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆ ด้วยการผลิตรถจักรยานยนต์ รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ รถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์อัตโนมัติ หรือสกูตเตอร์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นอย่างมาก ณ ช่วงเวลานี้

พร้อมกับการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ อาทิ โฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง การจัดทำโปรโมชัน ทั้งฟรีเงินดาวน์หรือดาวน์น้อย ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้น และการลดแลก แจก แถม ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 ขยายตัวได้บ้าง แต่ไม่มากนัก โดยการจำหน่ายมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปริมาณ 1,430,181 คัน ซึ่งมีค่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าเป็นผู้นำตลาดเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ด้วยส่วนแบ่งตลาดมากถึง 64% ของตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวม รองลงมาเป็น ยามาฮ่า ซูซูกิ ไทเกอร์ และคาวาซากิ ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% เป็นของรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ส่วนรถจักรยานยนต์จากจีนที่เพิ่งเข้ามา ทำตลาดได้ไม่นานอย่าง แพล็ตตินั่ม ซึ่งใช้กลยุทธ์การจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า ปรากฏว่ายังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อยมาก หากเทียบกับรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเข้าทำตลาด เพื่อให้ผู้บริโภครู้จัก และไว้วางใจในแบรนด์ ประกอบกับในระยะ 1-2 ปีมานี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลง อีกทั้งผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังยึดติดกับแบรนด์เดิมๆ ที่นิยมรถจักรยานยนต์จากค่ายญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ทั้งรูปทรง สีสัน และสมรรถนะของรถ ตลอดจนชิ้นส่วนอะไหล่ที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่สูงเกินไป ดังนั้น การเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปจากผู้ประกอบการเดิมที่ครองตลาดมาเป็นเวลานานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

การส่งออกขยายตัวชดเชยตลาดภายในประเทศ
การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปทั้งที่ประกอบแล้ว (CBU) และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป ทั้งที่ประกอบแล้ว (CBU) และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) โดยรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 1,010,139 คัน คิดเป็นมูลค่า 15,894.48 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.94 และร้อยละ 5.37 ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากตลาดต่างประเทศทั้งในเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล และรูปแบบ ที่ตรงตามรสนิยมของผู้บริโภคต่างประเทศ รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของโลกหลายราย เข้ามายังไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตในการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

สรุป
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 นี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แต่ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือและภาคกลาง และปัญหาการขาดผ่อนส่งในการเช่าซื้อรถ ทำให้รถจักรยานยนต์หลายราย จึงเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เหล่านี้ อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้ง ให้ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปีนี้ขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยคาดว่าทั้งปีจะมีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 2.15 ล้านคัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2% จากปีที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหันมาทำตลาดอย่างจริงจัง ของผู้ประกอบการเพื่อทดแทนตลาดภายในที่เริ่มใกล้จุดอิ่มตัว ประกอบกับจักรยานยนต์ที่ไทยผลิตได้รับการพัฒนาในด้านรูปทรง ตัวถัง และอุปกรณ์ตกแต่งให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ จึงทำให้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปที่ประกอบแล้ว (CBU) จะมีแนวโน้มลดลง แต่การส่งออกชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มหันมาประกอบรถจักรยานยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศเองมากขึ้น