ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > "สิงห์ฮาร์เลย์" มนต์ขลังของความอมตะ
"สิงห์ฮาร์เลย์" มนต์ขลังของความอมตะ
ที่มา - นสพ.มติชน วันที่ 10 มิ.ย.50

"เสน่ห์ของรถฮาร์เลย์ คือรูปทรงของรถ และเสียงที่ไพเราะ นอกจากนี้ ยังมีความโลว์เทคโนโลยี ทำให้เครื่องยนต์ดูโบราณ เหมือนกำลังขับรถโบราณอยู่ แต่มันมีมนต์ขลังในตัวมันเอง" นี้คือคำนิยายของ "รถฮาร์เลย์" ที่ออกจากปาก "พิมล ศรีวิกรม์" อดีต ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย ที่วันนี้สวมหมวกหัวหน้ากลุ่มธรรมาธิปไตย ครั้งหนึ่งเคยสวมบทเป็นประธานชมรมผู้ชื่นชอบรถฮาร์เลย์มาแล้ว

เนื่องจากหลงใหลในมนต์ขลังของรถ เลยก่อตั้งชมรม "อิมอร์เทิล" (immortal) ที่แปลว่า "ความอมตะ" จนขณะนี้มีสมาชิกผู้ชื่นชอบในรถฮาร์เลย์อยู่ในชมรมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน

"ผมเริ่มขี่รถฮาร์เลย์ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่รัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเพื่อนในกลุ่มผมที่ขับรถฮาร์เลย์ด้วยกันจะดุมากๆ เป็นพวกชอบต่อยตี ทำให้หลายคนมาถามผมว่าเขารับได้เหรอ เพราะเป็นคนเอเชีย แต่พวกนี้ส่วนใหญ่เคยไปรบที่เวียดนาม และเคยอยู่เมืองไทยมาก่อน พอผมบอกว่ามาจากไทยแลนด์ เขาจะรักมาก และต้อนรับเราเป็นอย่างดี.."

"พิมล" ย้อนความเป็นมาในอดีตให้ฟัง ท่ามกลางอาหารจีนที่เรียงรายอยู่บนโต๊ะ ในโรงแรมคอนติเนนตัล ราชประสงค์

"รถฮาร์เลย์ของผมมี 2 คัน คันแรกซื้อในราคาหมื่นกว่าเหรียญ ตอนนั้นดอลลาร์ละ 25 บาท ก็ประมาณ 2 แสนบาท และตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่อยู่เมืองนอก ผมขี่รถฮาร์เลย์มาตลอด โดยเฉพาะวันอาทิตย์ จะเป็นวันขี่รถเที่ยว กินข้าวเช้า แล้วก็ขี่กับเพื่อนทั้งวัน เพราะที่แคลิฟอร์เนียอากาศดี มีภูเขาขึ้นลง ที่นั่นขับขี่ได้สบาย เพราะคนให้เกียรติมอเตอร์ไซค์"

หลังเรียนจบเดินทางกลับเมืองไทย เขาได้หอบเอามอเตอร์ไซค์กลับมาด้วย "ที่ผมเอารถกลับมา เพราะต้องการเอามาขับกินบรรยากาศในเมืองไทย พอกลับมาก็มีพรรคพวกประมาณ 7-8 คน มาร่วมขี่รถเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยกัน ผมเลยคิดว่าเราน่าจะตั้งเป็นชมรมร่วมกัน เลยตั้งชมรมฮาร์เลย์ขึ้น ภายใต้ชื่อ "อิมอร์เทิล" ที่แปลว่า "อมตะ" ซึ่งตอนนั้นมีคนเข้าร่วมประมาณ 50 คน" และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชมรมอิมอร์เทิล สำหรับผู้ชื่นชอบรถฮาร์เลย์เป็นชีวิตจิตใจ

"พิมล" เล่าว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการขี่รถมอเตอร์ไซค์มากที่สุดหรือที่เรียกกันว่า BIKE WEEK คือช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวตลอดทั้งสัปดาห์ โดยเริ่มจากการจัดทริปท่องเที่ยวครั้งแรกที่ จ.ภูเก็ต จากนั้นก็เดินทางด้วยฮาร์เลย์ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งแม่ฮ่องสอน หรือแม้แต่เลียบแม่น้ำโขง และการขี่รถท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ คณะผู้ร่วมขบวนจะมีการส่งสัญญาณเป็นที่รับรู้ในระหว่างการขับขี่เพื่อความปลอดภัย

"ผมจะเป็นผู้นำขบวนและเป็นคนส่งสัญญาณให้กับรถที่ขับตาม เช่น เมื่อส่งสัญญาณแบบนี้รถจะขี่แบบก้างปลา เมื่อเจอการจราจรแบบไหนจะต้องขี่อย่างไรถึงจะเป็นระเบียบ และปลอดภัย"

หลังจากนั้น ก็มีสมาชิกเข้าร่วมชมรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งตำรวจ ทหาร ดารา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมประมาณ 1,000 คน เช่น "แอ๊ด คาราบาว" "ทอม ดันดี" หรือแม้แต่ "เจมส์ คาน" "พิมล" เล่าว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่ "แอ๊ด คาราบาว" เวลาแกเมาจนแทบจะขึ้นมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ถึงขนาดต้องพยุงกัน แต่พอขึ้นมอเตอร์ไซค์ได้แล้ว กลับขี่ได้โดยอัตโนมัติ

"ประสบการณ์ในการขี่รถมอเตอร์ไซค์ของผมส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่มีบางเหตุการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุกับเพื่อนในกลุ่ม เพราะมีตกเขาบ้าง

และการเดินทางที่น่าประทับใจมากที่สุด คือเส้นทางไปจังหวัดแม่ฮ่อนสอน โดยเฉพาะเส้นเก่าที่มีหลายพันโค้งจากจังหวัดเชียงราย ไปถึงแม่ฮ่องสอน แทบจะไม่มีทางตรงเลย มันจะเลี้ยวตลอดเวลา ทำให้เวลาเข้าโค้ง ที่เหยียบจะถูกับพื้น เป็นไฟแล้บขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นอยู่ในวัย 30 ต้นๆ แต่พอหลังจากแต่งงานก็เริ่มขับขี่น้อยลง และเลิกขี่มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งวันนี้ผมยังคิดที่จะกลับไปขี่รถอีก"

ตำนาน"ฮาร์เลย์"
ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) รู้จักกันดีในชื่อ ฮาร์ลีย์ส (Harleys) หรือในเมืองไทยนิยมเรียกกันว่า ฮาร์เลย์ เป็นบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ จากสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ มิลวอกี รัฐวิสคอนซิน

ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เป็นหนึ่งในสองบริษัทผลิตมอร์เตอร์ไซค์ที่ยังคงดำเนินการอยู่ (อีกบริษัทคือ วิกตอรี) ลักษณะเด่นของรถของบริษัทนี้ คือเป็นรถที่มีลักษณะใหญ่ การออกแบบเฉพาะตัวและเสียงเครื่องยนต์ที่แตกต่าง

ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เริ่มต้นในปี พ.ศ.2446 จาก วิลเลียม ฮาร์ลีย์ และ อาร์เธอร์ เดวิดสัน โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2444 ฮาร์ลีย์ได้เริ่มวางแผนในการนำเครื่อง 116 ซีซี มาใช้กับโครงจักรยาน

หลังจากนั้น ในปี 2449 ทั้งคู่ได้ตั้งโรงงานขึ้น โดยถัดมาอีกหนึ่งปีหลังจากที่ ฮาร์ลีย์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน เขาได้ขยายโรงงานเพิ่ม จนฮาร์ลีย์-เดวิดสัน โด่งดังทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา