ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > ทำช่องทางเฉพาะจักรยานยนต์ คุ้มค่าลงทุน
ทำช่องทางเฉพาะจักรยานยนต์ คุ้มค่าลงทุน
ที่มา - นสพ.เดลินิวส์ (คอลัมน์เดินหน้าเลี้ยวซ้าย) วันที่ 4-5 เม.ย.54

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติส่งบทความ ช่องทางรถจักรยานยนต์ ถนนของคนจนที่ไม่มีใครยอมลงทุน โดยคุณณัฐกานต์ ไวยเนตร เครือข่ายนักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พิจารณาครับ

รถจักรยานยนต์ในไทยมีมากกว่า ร้อยละ 60 หรือมากถึง 17 ล้านคัน แต่เมืองไทยยังไม่มีช่องทางเฉพาะครบทั้งระบบ ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้ใช้จักรยานยนต์ ซึ่งเป็นคนใช้ถนนกลุ่มใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยมีการเพิ่มขึ้นของจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่องในลำดับต้นๆ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้จักรยานยนต์ก็สูงที่สุดในโลกเช่นกัน จึงมีแนวคิดการแบ่งช่องทางจราจรให้เหมาะกับยานพาหนะและผู้ใช้ทางแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ที่เรียกว่า ช่องทางเฉพาะ เช่น ช่องทางจักรยาน ทางเท้า หรือจักรยานยนต์ โดยพาหนะที่ความเร็วต่ำ ขนาดเล็กควรแยกออกจากพาหนะที่ความเร็วสูงขนาดใหญ่

ในอเมริกา การสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก พบว่าสาเหตุหลักมาจากการที่รถอื่นมองไม่เห็นจักรยานยนต์ ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนได้ การเฉี่ยวชนมากกว่า 1 ใน 3 เกิดขึ้นบริเวณทางแยก เมื่อการจราจรหนาแน่นอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากข้อบกพร่องและอุปสรรคการมองเห็นที่จำกัดของจักรยานยนต์ การจัดทำช่องเฉพาะจะคุ้มค่าที่สุด

การสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึกในยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 2009 ทำในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์และสเปน พบว่า เกินครึ่งของการเฉี่ยวชนในทางตรง ระหว่างจักรยานยนต์และยานพาหนะอื่น เกิดขึ้นเมื่อทั้งคู่ต่างขับขี่ชิดเส้นแบ่งถนน ร้อยละ 90 ที่จักรยานยนต์ถูกชนท้าย ร้อยละ 60 จักรยานยนต์ชนท้ายรถคันอื่น เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนกันหลายคันมักจะมีสาเหตุจากจักรยานยนต์พยายามขี่แทรกคันอื่น แล้วเบรกและเสียหลักมากกว่า และมีข้อแนะนำถึงการแบ่งช่องเฉพาะเช่นกัน

ขณะที่การศึกษาในอังกฤษพบผลเช่นเดียวกัน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เมื่อมีผู้ใช้จักรยานยนต์ตกจากรถมักถูกรถคันอื่นชนซ้ำ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในวันทำงานช่วงที่การจราจรหนาแน่น จักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า ภายหลังทดลองให้รถจักรยานยนต์วิ่งในเส้นทางพิเศษของรถประจำทาง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 ถึง มิถุนายน ค.ศ. 2010 พบว่า นอกจากลดอุบัติเหตุแล้ว ยังทำให้จักรยานยนต์ใช้เวลาเดินทางลดลง ซึ่งอังกฤษเตรียมประกาศใช้ช่องทางพิเศษสำหรับจักรยานยนต์ทั่วประเทศในปี ค.ศ. 2012 โดยเริ่มแจ้งให้ประชาชนทราบตั้งแต่ตุลาคม ค.ศ. 2010

มาเลเซียได้ออกแบบช่องทางเฉพาะสำหรับจักรยานยนต์ร่วมการรณรงค์อื่น ๆ เช่นการใช้หมวกนิรภัย เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน บางพื้นที่ที่มีช่องจราจรไม่มาก ก็อาจจะทำสีและเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อให้เห็นว่าเป็นช่องทางสำหรับจักรยานยนต์ บางพื้นที่ทำเครื่องกันแยกเพื่อป้องกันไม่ให้พาหนะอื่นเข้ามาใช้ สิ่งที่สำคัญคือมีช่องทางกลับรถที่เฉพาะ เนื่องจากรายงานวิจัยทั่วโลกต่างระบุว่าโอกาสที่จักรยานยนต์จะถูกรถคันอื่นชนได้มากที่สุด คือ เมื่อเข้าสู่ทางร่วมหรือทางแยก เนื่องจากรถจักรยานยนต์มักฝ่าฝืนสัญญาณไฟเสมอเพราะคล่องตัว

ช่องทางสำหรับจักรยานยนต์ในมาเลเซียได้รับการประเมินว่า แก้ปัญหาได้ตรงจุด ลดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 39 และลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 83 ขณะที่จีน และอินโดนีเซียบางพื้นที่ก็เริ่มมีแนวคิดจัดช่องทางพิเศษสำหรับจักรยานยนต์

ส่วนของไทย การสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึกของ วีระ กสานติกุลในปี 2547 และการสอบสวนการบาดเจ็บเชิงลึกของ ณัฐกานต์ ไวยเนตรในปี 2549 รวมทั้งการศึกษาเรื่องใบขับขี่ในกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นของประเทศไทยพบว่า การบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต มักเกิดจากจักรยานยนต์ ถูกพาหนะอื่นชน ในเวลากลางคืน ทั้งทางตรงและทางแยก การถูกชนทางแยกมักเกิดในช่วงเร่งด่วน ที่แตกต่างกับประเทศอื่น ๆ คือ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ในไทย อายุน้อยการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร การขับขี่ผิดช่องทางหรือย้อนศร มีสัดส่วนสูงมาก

แนวคิดการพัฒนาช่องทางพิเศษสำหรับจักรยานยนต์ นำไปสู่การจัดการช่องทางเฉพาะสำหรับจักรยานยนต์ ในหลายเมือง เช่น จังหวัดสมุทรปราการ นครปฐม ตาก และลำปาง แต่การออกแบบยังไม่สมบูรณ์ ยังขาดความเฉพาะเมื่อเข้าสู่ทางแยกและการกลับรถยังต้องใช้ทางร่วมกับรถอื่น ๆ ช่องทางที่จัดไว้มีไม่ครบทุกเส้นทาง รถอื่นมักใช้ช่องทางจักรยานยนต์เป็นที่จอดรถ ถนนบางสายห้ามจักรยานยนต์ใช้ทางข้ามทางแยก บางถนนห้ามใช้ทางหลักเช่น ถนนวิภาวดีรังสิต

ช่องทางจักรยานยนต์ในไทยยังไม่ล้มเหลวแต่ควรเป็นโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นระบบร่วมกับโครงการอื่น ๆ เช่นการสวมหมวกนิรภัย เข้มงวดเพิ่มวินัยจราจร หรือแม้แต่จัดฝึกขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง