ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > บทเรียนชีวิต คน (ไม่) รักหัว
บทเรียนชีวิต คน (ไม่) รักหัว
ที่มา - นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 31 พ.ค.54

ใครเลยจะคาดคิดชะตาชีวิตของสุภาพสตรีสาวสวย เจ้าของธุรกิจโฆษณา วรินทร คุณาวัฒโนทัย สาวมั่นผู้มากความสามารถ ที่ก้าวสู่ความสำเร็จสูงสุดในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ร.ศ. 221 เทเลวิชั่น จำกัด ด้วยวัยเพียง 30 ปี แต่ต้องพลิกผันอย่างน่าใจหาย แม้วรินทรจะมีรถยุโรปคันหรูเป็นพาหนะส่วนตัว แต่ด้วยภารกิจที่เธอต้องดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้บางครั้งนักธุรกิจสาวไฟแรงต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยอาศัยบริการจักรยานยนต์รับจ้างซอกแซกไปตามถนนที่สภาพการจราจรติดขัดในเมืองหลวง เพื่อไปให้ถึงตามที่นัดหมายไว้กับลูกค้าได้ทันเวลา

แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่า ครั้งหนึ่งวันนั้น จะเป็นนัดหมายครั้งที่วรินทร จะต้องจดจำไปจนชีวิตของเธอจะหาไม่ “วันนั้นรีบมากมีนัดกับลูกค้า จึงตัดสินใจเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ไปส่งยังจุดหมาย” เธอย้อนเรื่องราววันเกิดเหตุ “คนขับมอเตอร์ไซค์ขับด้วยความเร็ว รถไปสะดุดเนินหิน ทำให้เสียหลัก ตัวดิฉันกระเด็นลอยจากรถตกลงไปที่พื้น กลิ้งไปหลายตลบ ศีรษะด้านขวากระแทกกับพื้นอย่างแรง”

วรินทรบอกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ศีรษะของเธอได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการกระแทกกับพื้น เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองถึง 3 ครั้ง นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน 6 เดือน หูด้านซ้ายได้ยินไม่ชัด ตาข้างซ้ายก็เริ่มมีปัญหากับการมองเห็น

แม้ว่าวันนี้สภาพร่างกายของวรินทร เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่อะไรๆก็ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว ความสวยที่เคยมีอันตรธานหายไป จากนักธุรกิจสาวสวยและเก่งบุคลิกมาดมั่น กลับต้องกลายเป็นหญิงพิการนั่งอยู่บนวีลแชร์ ที่ต้องคอยมีคนดูแลตลอดเวลา

วรินทรบอกว่า กำลังใจจากคุณแม่ ครอบครัว และคนรอบข้าง คือพลังใจอันใหญ่หลวง ทำให้วันนี้เธอลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังอดเสียใจไม่ได้อยู่เรื่องหนึ่ง "ถ้าย้อนเวลาไปได้ วันนั้นยอมเสียเวลาแค่ไม่กี่วินาที สวมหมวกกันน็อก วันนี้คงไม่ต้องทนทุกข์ทรมานแบบนี้ ไม่ต้องมานั่งคิดทั้งชีวิตแบบนี้ อยากเตือนทุกคนเรื่องความประมาท บางครั้งเราคิดว่าไม่เป็นไร แต่แค่วินาทีเดียว อะไรก็เกิดขึ้นได้ และอาจเปลี่ยนชีวิตเราไปทั้งชีวิต”

นั่นคือข้อคิดจากบทเรียนชีวิตราคาแพงของ วรินทร คุณาวัฒโนทัย หนึ่งในเหยื่ออุบัติเหตุจากการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อก

ทาง ชมรมคนห่วงหัว (Head Awareness Club) ซึ่งมี นพ.แท้จริง ศิริพานิช แห่งมูลนิธิเมาไม่ขับ รับหน้าที่เป็นเลขาธิการชมรมฯ ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับคุณวรินทรมาตีแผ่ เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ย้ำเตือนบรรดาผู้ขับขี่หรือซ้อนท้าย มอเตอร์ไซค์ทั้งหลายที่มองข้ามความสำคัญของหมวกกันน็อก

คุณหมอแท้จริงบอกว่า ผลการวิจัยระบุออกมาชัด การสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ได้เฉลี่ย ถึง 37% นอกจากนี้ การสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงได้ถึง 72% ตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก มีโอกาสได้รับบาดเจ็บทางสมองสูงกว่าผู้ที่สวมถึง 6 เท่า

นพ.แท้จริงบอกว่า เมื่อปี 2553 เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนน ได้สำรวจอัตราการสวมหมวกกันน็อกของคนไทยโดยทั่วไป พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ สวมหมวกกันน็อก ร้อยละ 53.3 ส่วนผู้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ทั่วประเทศสวมหมวกกันน็อกแค่ร้อยละ 19.4

ท็อปไฟว์หรือ 5 จังหวัดที่น่าชมเชย เพราะมีผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (93.2%) สมุทรปราการ (79.9%) ภูเก็ต (79.7%) หนองบัวลำภู (74.1%) และ เลย (73.6%)

อีก 5 จังหวัดที่น่าปรบมือ เพราะมีผู้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกสูงสุด ได้แก่ เลย (56.6%) ภูเก็ต (50.6%) กรุงเทพมหานคร (45.2%) หนองบัวลำภู (36.7%) และ พิษณุโลก (31.0%)

ส่วน 5 จังหวัดรั้งท้ายที่มีผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกต่ำสุดของประเทศ ได้แก่ หนองคาย และ อ่างทอง สวมเพียงจังหวัดละ 29.8% เท่ากัน เพชรบุรี 28.6% ปัตตานี 26.1% และ นราธิวาส 21.5%

อีก 5 จังหวัดที่มีผู้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ สวมหมวกกันน็อกอัตราต่ำสุดของประเทศ ได้แก่ นราธิวาส สวมเพียง 2.5% ปัตตานี 2.4% สตูล 2.3% พังงา 2.1% และ ระนอง 1.8%

แต่ถ้านับรวมทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้าย 5 จังหวัดแรก ที่พร้อมใจกันสวมหมวกกันน็อกสูงสุด อันดับแรกต้องยกนิ้วให้กรุงเทพมหานคร มีมากถึง 81.85% อันดับ 2 ภูเก็ต 71.3% อันดับ 3 เลย 68.2% อันดับ 4 นนทบุรี 61.6% และอันดับ 5 ปทุมธานี 56.3%

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2554 ทาง ชมรมคนห่วงหัว ได้สำรวจอัตราการสวมหมวกกันน็อกในเขตกรุงเทพหมานคร โดยเจาะจงไปที่ผู้โดยสาร รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือมอเตอร์ไซค์วินรับจ้างใน กทม. กลับพบว่า เป้าหมายกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากวันละเรือนแสนคน กลับมีอัตราการสวมหมวกกันน็อกเพียงแค่ ร้อยละ 8

ที่แย่ไปกว่านั้น ยังพบว่า บรรดาเด็กนักเรียนที่เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถจักรยานยนต์ มีการสวมหมวกกันน็อกแค่ ร้อยละ 7

คุณหมอแท้จริงบอกว่า 10 เหตุผลหลัก ที่ทำให้คนไทยมองข้ามความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่ หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ทำให้บาดเจ็บ พิการ และล้มตาย ปีละนับไม่ถ้วน ล้วนเกิดจาก

สาเหตุแรก เห็นว่า เป็นการเดินทางระยะใกล้ ไม่น่าจะเป็นอันตราย ทั่วประเทศมีผู้ที่คิดเช่นนี้มีมากถึงร้อยละ 64
สาเหตุที่ 2 เห็นว่า ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ อยู่แค่ในตรอกซอย ไม่ต้องสวมก็ได้ (ร้อยละ 37)
สาเหตุที่ 3 อ้างว่า เร่งรีบ (ร้อยละ 29)
สาเหตุที่ 4 อ้างว่า สวมแล้วไม่สบาย ร้อน อึดอัด สกปรก (21%)
สาเหตุที่ 5 กลัวผมจะเสียทรง (13%)
สาเหตุที่ 6 อ้างว่า ไม่มีที่เก็บหมวกฯ พกพาลำบาก กลัวหาย (10%)
สาเหตุที่ 7 ให้เหตุผลว่า แม้ไม่สวมตำรวจก็ไม่จับ (8%)
สาเหตุที่ 8 ไม่มีหมวกกันน็อก (7%)
สาเหตุที่ 9 คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย (6%) และสาเหตุสุดท้าย เห็นคนอื่นไม่สวม จึงไม่สวมบ้าง (4%)

นพ.แท้จริงบอกว่า หากสามารถทำให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกกันน็อกได้ ครบทุกคน คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้ มากถึงปีละ 3,200 คน เลยทีเดียว

เพื่อเป็นการรณรงค์ให้มีการสวมหมวกกันน็อกครบทั้ง 100% ซึ่งสอดคล้องกับการที่สหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์อย่าง พร้อมเพรียงและต่อเนื่อง

คุณหมอแท้จริงบอกว่า ทางชมรมคนห่วงหัว (มูลนิธิเมาไม่ขับ)จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุ จึงร่วมกันรณรงค์โดยขอให้ น.ส.วรินทร คุณาวัฒโนทัย เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการรณรงค์สวมหมวกกันน็อก ซึ่งเธอยินดีที่จะนำบทเรียนจากชีวิตตัวเองมาเป็นอุทาหรณ์ให้ แก่ผู้อื่น

พร้อมกันนี้เธอยังได้ออกแบบ “ผ้าคนห่วงหัว” สำหรับใช้คลุมศีรษะก่อนสวมหมวกกันน็อก เพื่อป้องกันความสกปรก หรือกลิ่นอับ ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ที่สนใจ โดยสามารถขอรับผ้าดังกล่าวได้ ที่ชมรมคนห่วงหัว เลขที่ 28/12 ซ.สุขุมวิท 19 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ