ร่วมงานกับเรา
อันดับรถจักรยานยนต์ยอดนิยม > ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยอดนิยมปี 2550
จยย.ปี 50 หดหนัก 17% ฮอนด้าแชมป์ 19 ปีติด
ที่มา - ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ม.ค.51

ปิดตลาดรถจักรยานยนต์ปี 50 ตัวเลขยอดจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 1.59 ล้านคัน หล่นวูบจากปีก่อนถึง 17% ชี้ปัจจัยลบอื้อ ทั้งสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวในการบริโภค สวนทางรถ เอ.ที. มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เหตุเพราะการโหมกระตุ้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์และปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ในกลุ่มรถประเภทนี้ของค่ายผู้ผลิต ส่วนฮอนด้ายังครองแชมป์ยอดขายสูงสุด 19 ปีติดต่อกัน

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์ในปี 2550 ปรากฏว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 1,598,876 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีปริมาณ 1,926,804 คันแล้ว มีปริมาณลดลง 327,928 คัน หรือมีอัตราการเติบโตลดลง 17% ทั้งนี้ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 804,527 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 50% รถแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ 727,869 คัน สัดส่วนตลาด 46% รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 51,501 คัน สัดส่วนตลาด 3% รถแบบสปอร์ต 10,947 คัน สัดส่วนตลาด 1% และรถประเภทอื่นๆ 4,032 คัน

“สำหรับสาเหตุของการเติบโตลดลงนั้นมาจากปัจจัยลบหลายประการ โดยสาเหตุสำคัญคือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคในระดับรากหญ้าอันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้นแล้วยังเกิดจากปัจจัยการขาดความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจของผู้บริโภค ส่งผลให้มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้การบริโภคหดตัว”

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพตลาดโดยรวมจะมีการเติบโตลดลง แต่ในกลุ่มรถประเภท เอ.ที. กลับมีการเติบโตสวนทิศทางของตลาด โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 727,869 คัน สัดส่วนตลาด 46% จากปีก่อนหน้านี้ที่มีปริมาณ 648,537 คัน สัดส่วนตลาด 34% เท่านั้น ส่งผลให้รถแบบ เอ.ที. มีอัตราการขยายตัวถึง 12% ในขณะที่รถจักรยานยนต์กลุ่มอื่นๆ ที่เป็นประเภทหลักของตลาด อันได้แก่ รถแบบครอบครัว แบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต และแบบสปอร์ต มีอัตราการขยายตัวลดลงทั้งสิ้น คือ 31% 47% และ 9% ตามลำดับ

นายธีระพัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุของการขยายตัวในกลุ่มรถประเภท เอ.ที. ว่า เนื่องมาจากการมุ่งเน้นและโหมกระตุ้นตลาดรถประเภทนี้ของค่ายผู้ผลิตต่างๆ ทั้งในรูปแบบของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปโฉมและภาพลักษณ์ของรถรุ่นเดิมที่มีอยู่ในตลาดให้มีความสดใหม่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายรถประเภทนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

“แม้ว่าในช่วงระยะสามเดือนแรกของครึ่งปีหลังตลาดจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้มีปริมาณการจำหน่ายลดลง โดยกลุ่มผู้บริโภคหันไปนิยมรถแบบครอบครัวที่มีจุดเด่นด้านความประหยัดก็ตาม แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น ตลาดรถแบบ เอ.ที. ก็กลับมาตื่นตัวและคึกคักขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากการที่ค่ายฮอนด้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มรถประเภทนี้ ได้แก่รุ่น ไอคอน พร้อมทั้งรุกจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายที่เข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นแรงผลักดันสำคัญในการกระตุ้นตลาด”

ทั้งนี้ฮอนด้ายังคงได้รับความไว้วางใจและความนิยมจากผู้ใช้เป็นอย่างมาก โดยมีปริมาณยอดการจดทะเบียนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ 1,118,555 คัน เทียบเท่าอัตราส่วนครองตลาด 70% ซึ่งการเป็นผู้นำตลาดในปี 2550 นั้น เป็นผลผลักดันให้ฮอนด้าสามารถครองความเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ติดต่อกัน

สำหรับแนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2551 นี้ คาดการณ์ว่าสภาพตลาดจะอยู่ในภาวะทรงตัวโดยมีปริมาณตลาดรวมทั้งหมดใกล้เคียงกับเมื่อปีที่ผ่านมา และจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันจะเป็นตัวกำหนดให้รถในประเภทครอบครัวยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ในขณะที่รถแบบ เอ.ที. หรือ เกียร์อัตโนมัติ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ใช้ และมีส่วนในการสร้างความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้กับตลาด นายธีระพัฒน์ กล่าวตบท้าย

ตารางแสดงยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยอดนิยม 10 อันดับ

อันดับ
ยี่ห้อ/รุ่น
จำนวน (คัน)
1
ฮอนด้า เวฟ 100 เอ็กซ์
542,988
2
ฮอนด้า เวฟ 100
443,598
3
ฮอนด้า คลิก 309,703
4
ยามาฮ่า มีโอ 150,710
5
ยามาฮ่า ฟีโน่ 126,597
6
ฮอนด้า ไอคอน 93,277
7
ยามาฮ่า นูโว 49,910
8
ฮอนด้า ดรีม 48,494
9
ฮอนด้า เวฟ 125 เอ็กซ์ 42,259
10
ซูซูกิ สแมช เรฟโว 30,568